Follow TheEvidence วลีฮิตติดปากของ Gil Grissom ตัวละครเอกในภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด CSI ที่โด่งดังไปทั่วโลก จนเกิดเป็นกระแสตื่นตัวให้ใครต่อใครหันมาสนใจเรื่องนิติวิทยาศาสตร์
เพราะพยานวัตถุ ไม่เคยโกหกเหมือนพยานบุคคล แต่ปัญหาคือ พยานวัตถุของจริง นั้นหาไม่ได้ง่าย ๆ และแม้จะพบแล้วมันก็พูดไม่ได้ การจะหาคำตอบเพื่อไขคดี จึงต้องอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า นิติวิทยาศาสตร์
ในหนังโทรทัศน์ เราเห็นกระบวนการตรวจหาลายนิ้วมือ ทราบผลภายในไม่กี่วินาที แต่ในโลกความจริง ต้องใช้เวลานานนับชั่วโมง และบางครั้งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ล่าสุดด้วยนวัตกรรมฝีมือของนักวิทยาศาสตร์ไทย สามารถสร้างผลงานที่ทำได้เหมือนในหนังแล้ว
ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ หรือ ASESS คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พัฒนา “ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงอย่างรวดเร็ว โดยใช้ผงเปลือกมังคุด” และ “เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน” ทั้งแบบตั้งโต๊ะ และแบบพกพา โดยนวัตกรรมทั้งสองแบบนี้สามารถตรวจหาลายนิ้วมือได้ภายในเวลาเพียง 10-20 วินาทีเท่านั้น
เทียบกับแบบเดิมที่ต้องใช้ผงคาร์บอน อบไอกาว หรือย้อมสีเรืองแสง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ราคาแพงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อายุใช้งานสั้น และใช้เวลานานนับชั่วโมงกว่าจะได้ลายนิ้วมือ
ส่วนเครื่องตรวจหาลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พบว่า ปลอกกระสุนปืนเป็นวัตถุพยานที่มักพบอยู่มากในที่เกิดเหตุ การตรวจหาลายนิ้วมือแฝงจากปลอกกระสุนปืนจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงหาตัวผู้กระทำผิดได้
ศูนย์ ASESS ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยร่วมกับตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้น 2 แบบ คือ เครื่องตรวจแบบตั้งโต๊ะ ต้นทุนผลิตราว 20,000 บาท ตรวจหาลายนิ้วมือจากปลอกกระสุนปืนได้ครั้งละ 10 ปลอก และเครื่องแบบพกพา ต้นทุน 6,000 บาท ขนาดเท่ากระบอกน้ำ ชาร์จไฟได้ ตรวจได้ครั้งละ 1 ปลอก ที่สำคัญคือ ใช้เวลาตรวจเร็วขึ้นจาก 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 20 วินาที
อีกหนึ่งผลงานของศูนย์ ASESS ยังได้พัฒนา Green Colloidal SERS จากวัสดุธรรมชาติที่มีในประเทศ มาใช้สำหรับการตรวจสอบหมึกปากกาจากเอกสารต้องสงสัย ที่อาจมีการปลอมแปลงขึ้น โดยหยดสารสังเคราะห์ดังกล่าวลงตรงตำแหน่งที่ต้องการ หากมีการแต่งเติม ข้อความด้วยปากกาคนละด้ามจะตรวจพบได้ทันที ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำลายหมึกหรือสภาพกระดาษแต่อย่างใด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานวิจัยที่ทำสำเร็จแล้วหลายต่อหลายชิ้น ถูกเก็บขึ้นหิ้งไม่มีการนำไปใช้จริง แต่ผลงานของศูนย์ ASESS ที่เล่าให้ฟังนี้ได้ส่งมอบให้หน่วยงานรัฐด้านพิสูจน์หลักฐานนำไปใช้แล้ว โดยอาจารย์โบว์ เล่าว่า ตั้งแต่ที่เริ่มทำวิจัยก็ได้ร่วมมือกับตำรวจพิสูจน์หลักฐาน มาตลอด ผลงานที่ได้จึงเป็นการตอบโจทย์ และสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
แม้กระแสตื่นตัวจากซีรีย์ส CSI มีแง่ดีที่ทำให้สังคมได้มีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การค้นหา แลตรวจสอบ พยานหลักฐานต่าง ๆ ในโลกของความเป็นจริงนั้น ช่างตรงกันข้ามกับในหนังอย่างสิ้นเชิง
ตลาดบ้านมือสองปี 66 แนวโน้มสดใส ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ
8 เทรนด์กระเบื้องมาแรงปี 2025 “From Nature to Life” เชื่อมโยงธรรมชาติกับชีวิต
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้