จากการทำแบบจำลองประเมินการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบว่าตั้งแต่ 28 ก.พ. 64 – 3 ก.ค. 65 วัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยไม่ให้เสียชีวิตได้ประมาณ 490,000 คน และลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจำนวนมาก แต่ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะลดลงตามเวลา ต้องฉีดกระตุ้น
รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีงานวิจัยตีพิมพ์ของสถาบัน The MRC Centre for Global Infectious Disease Analysis ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ทำแบบจำลองประเมินการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั่วโลกใน 185 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2563 – 8 ธ.ค. 2564 หรือช่วงเวลา 1 ปี พบว่า วัคซีนโควิดช่วยรักษาชีวิตคนทั่วโลกได้ประมาณ 20 ล้านคน
ส่วนเฉพาะในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 8 ธ.ค. 2564 พบว่าช่วยรักษาชีวิตคนไทย 382,600 คน แต่การระบาดไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ยังพบสายพันธุ์โอมิครอนอีก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำแบบจำลองนี้มาศึกษาต่อตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.2564 เป็นต้นมา พบว่าวัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยอีกประมาณ 107,400 คน
ดังนั้น เมื่อรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 – 3 ก.ค. 2565 วัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยไม่ให้เสียชีวิตประมาณ 490,000 คน และลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจำนวนมาก
“เมื่อฉีดวัคซีนโควิดพบว่า อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของผู้ติดโควิดเริ่มลดลงเรื่อยๆ และเริ่มลดลงอีกเมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้น จนทั่วโลกอัตราการเสียชีวิตของโควิดน่าจะต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะลดลงตามเวลา เป็นธรรมชาติของภูมิคุ้มกันจากวัคซีน คล้ายผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกันทุกปี ประกอบกับสายพันธุ์โอมิครอน ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงเร็วมาก คนที่ติดสายพันธุ์ก่อนหน้ายังติดโอมิครอนซ้ำได้อีก จึงต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเร็วขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 4 เดือน โดยประสิทธิผลมีความคุ้มค่ามาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และกลุ่ม 608 ซึ่งถ้าติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง” รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวสรุป