เอไอเอสจับมือแอปจอยลดา สร้างนิยายแชทจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ หวังเป็นวัคซีนไซเบอร์ให้กับเด็ก เยาวชนและกลุ่มผู้ใหญ่ ได้ออกมาเป็นนิยายแชท 7 เรื่องในสไตล์จอยลดา ทุกจอยบริจาคให้มูลนิธิสายเด็ก 1387
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอสต้องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ทั้งด้านสุขภาพและความรู้ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีทางไซเบอร์ ให้คนไทยแบบยั่งยืน กลุ่มเป้าหมายคือ เด็ก เยาวชน ครู และคนทั่วไปทุกช่วงวัย เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันด้านภัยไซเบอร์ แบบยั่งยืน โดยร่วมมือกับ สพฐ.บรรจุหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ลงในหลักสูตรของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.แล้ว
หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์
ประกอบด้วย การใช้งาน กฎกติกา ความเป็นส่วนตัว และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีบนโลกออนไลน์ ซึ่งใน 4 หัวข้อมี มากกว่า 32 โมดูล สำหรับทุกเพศทุกวัย
ทั้งนี้ ในช่วงโควิด -19 ทำงานร่วมกับนิสิต คณะวิทยาการจัดการ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อหาวิธีให้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับจอยลดา เพราะกลุ่มเด็กและเยาวชนไม่ชอบอะไรที่เป็นงานเป็นการ จอยลดา นำแกนความรู้ในหลักสูตร ทำนิยายแชท 7 เรื่องเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ทุกการอ่านนิยายแชทอุ่นใจ มีส่วนบริจาคให้มูลนิธิสายเด็ก 1387
Joylada แอปนิยายแชทของเจน C
นายศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา กล่าวว่า จอยลดา มีความตั้งใจจะเป็นแพลตฟอร์มสร้างผลงานสำหรับเยาวชน ปัจจุบันมีนักอ่านจำนวนมาก จึงพยายามควบคุมเนื้อหาให้เหมาะกับเด็ก
จอยลดา เป็นนิยายแชทแห่งแรก เป็นคอมมูนิตี้ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบเล่าเรื่อง จุดเริ่มต้นมาจากพฤติกรรมการแคปหน้าจอไปคุยกับเพื่อน เด็กและเยาวชนในยุคนี้ เสพสื่อสั้นลง ใช้แชทเพื่อการสื่อสารจึงเอาเทคโนโลยีมาสร้างเป็นนิยายแชท หรือ แชทโนเวล มีตัวละครเพียง 3-4 คน มาคุยกัน
ปัจจุบันจอยลดามีแอคทีฟยูสเซอร์ใน 4 ประเทศ จำนวนกว่า 3 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นคนเจน C อายุ14 ปีลงมา การอ่านแชทโนเวล จะ ขึ้นกับเนื้อหา ผู้อ่านจะไหลไปกับเนื้อหา ดังนั้น การคัดสรรเรื่องจึงต้องเป็นเรื่องที่ดี มีคุณภาพและถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การเป็นคอมมูนิตี้ของการสร้างคอนเทนท์ดีๆ
สร้างนิยายแชท 7 เรื่อง
ผู้จัดการจอยลดา ยอมรับว่าตื่นเต้นมากกับการร่วมงานเอไอเอส จากจุดเริ่มต้นเป็นสตาร์ทอัพปัจจุบัน มีเด็กหลายคนเข้ามาอ่านจอยลดา เพราะอยากอยู่ในบางโลกที่รู้สึกปลอดภัย ไม่เผชิญกับไซเบอร์บูลลี่
“บางทีการทำธุรกิจวิ่งไปเร็วเกินไปก็อาจจะลืมสิ่งเหล่านี้ ว่าเรามีเด็กๆ นักอ่านอยู่ด้วยกว่า 3 ล้านคน มีนักเขียนอีก 1 ล้านคน ดังนั้นทุกจอยหรือทุกการอ่านจะเปลี่ยนเป็นเงินบริจาค เมื่อครบ 5 ล้านจอยทางแอปจอยลดาจะบริจาคเงินให้บ้านมูลนิธิสายเด็ก 1387 “
สำหรับนิยายแชท 7 เรื่อง สะท้อนภัยไซเบอร์ ในรูปแบบนิยายที่ให้ความบันเทิง มีให้อ่านบนแอปจอยลดา Joylada และ ทาง ไมโครไซต์ joylada.com/aisxjoylada โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะนี้มีผู้อ่านแล้ว เกือบ 3 แสนจอย อยากให้การสื่อสารคอนเทนท์ไปให้ถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กๆทุกคน
ในอนาคตหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ จะอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนในสังกัด สพบ. กระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่องกับครูแกนนำและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ