เศรษฐกิจ

จับตาเทรนด์ที่อยู่อาศัยวัยเก๋า

9 เมษายน 2567

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้ว ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเผยว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 20% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างชัดเจน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี 2572 เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2574

อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องจับตามอง ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS คาดว่ามูลค่าตลาดกลุ่มผู้สูงอายุหรือ Silver Gen ของไทยจะสูงขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 4.4% มาอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาทใน ปี 2573 หรือเทียบเท่า 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย จึงทำให้เกิดเทรนด์ธุรกิจเพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายและมีความพร้อมทางการเงิน หลายธุรกิจรวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยจึงปรับกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้

Asian old couple people buy new home from they savings after retirement, new house in village walking togater in garden

ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เผยว่ากว่า 3 ใน 5 (62%) ของผู้บริโภคชาวไทยคิดเรื่องการวางแผนเกษียณบ่อยขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยใกล้เกษียณและผู้ที่มีรายได้ปานกลาง ในขณะที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้บริโภคต้องการไปใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด (27%) ด้วยจุดเด่นจากสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดธรรมชาติและมีความเจริญในหลายด้าน ตามมาด้วยกรุงเทพฯ (15%), เชียงราย (12%), เพชรบูรณ์ (10%) และภูเก็ต (9%) ในขณะที่ 16% ยังไม่มีทำเลในใจ

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของชีวิตหลังเกษียณส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องการเงิน กว่า 2 ใน 3 (70%) หวังปลอดภาระหนี้ ตามมาด้วยมีอิสระทางการเงิน และมีเงินออมเพียงพอสำหรับค่ารักษาพยาบาล (ในสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 63% และ 61% ตามลำดับ) สะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องทางการเงินและการวางแผนค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตช่วงเกษียณมากที่สุด

ข้อมูลจากแบบสอบถาม DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ยังเผยความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบว่าเกือบครึ่ง (48%) มีเงินออมเพียงพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้บริโภคในช่วงวัยอื่น ๆ ขณะที่อีก 42% เผยว่าเก็บเงินออมได้ครึ่งทางแล้ว ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงและน่าจับตามองในเวลานี้ ในขณะที่กว่า 1 ใน 3 (37%) มีการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยเหตุผลสำคัญในการซื้อที่อยู่อาศัยมาจากต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น 45% ตามมาด้วยซื้อเพื่อการลงทุน และขายบ้านหลังเดิมได้ราคาดี (ในสัดส่วนเท่ากันที่ 32%)

Asian lovely family, young daughter look to old mother cook in kitchen. Beautiful female enjoy spend leisure time and hugging senior elderly mom bake croissant on table in house. Activity relationship

สำหรับปัจจัยภายในที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญในการตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยมากที่สุด ได้แก่ ขนาดที่อยู่อาศัย 58% เน้นไปที่พื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอในการรองรับกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยมาเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตร 49%, สิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัย 39%, การออกแบบและการก่อสร้าง 27% ส่วนมาตรการ/โครงการที่จะช่วยให้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้น และชื่อเสียงของผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ มีสัดส่วนเท่ากันที่ 23%

ขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่ผู้สูงอายุใช้พิจารณาเมื่อเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น มากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการโครงการที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และลดความเสี่ยงในการขับขี่ด้วยตนเองเนื่องจากสภาพร่างกายอาจไม่พร้อม รองลงมาคือความปลอดภัยของทำเล 52%, ทำเลที่ตั้งโครงการ 43%, โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในย่านนั้น 31% ส่วนความเจริญของทำเล และใกล้โรงพยาบาล/สถานพยาบาล มีสัดส่วนเท่ากันที่ 26% เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการพบแพทย์หรือรับบริการทางสุขภาพต่าง ๆ

พื้นที่ในบ้านที่ผู้สูงอายุต้องการปรับเปลี่ยนมากที่สุดเพื่อรองรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณนั้น อันดับแรกคือห้องนั่งเล่น 23% ถือเป็นพื้นที่หลักที่ผู้สูงอายุใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากที่สุด จึงต้องการปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์และกิจวัตรประจำวัน รองลงมากคือห้องนอนและห้องน้ำ (16% และ 12% ตามลำดับ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องปรับปรุงให้พร้อม มีความปลอดภัยและมั่นคงรองรับการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน