จากกรณีที่กรมควบคุมโรค ได้แจ้งเตือนประชาชนที่นิยมกินเห็ดป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติ ให้ระมัดระวังเห็ดที่มีพิษ หากกินเข้าไปอาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดมีพิษในปี 2565 ว่าพบผู้ป่วยแล้ว 81 ราย ซึ่งในรายล่าสุดนั้นกินเห็ดพิษที่คล้ายกับเห็ดโคน โดยเฉพาะช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้น ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดที่มีพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดที่มีพิษมาปรุงประกอบอาหาร
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น มีความห่วงใยต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานเห็ดป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่สามารถนำมากินได้ และเห็ดที่มีพิษซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมากในขณะที่ยังเป็ดดอกตูม เช่น เห็นไข่ห่านเหลือง และเห็ดไข่ห่านขาว เห็ดทั้งสองชนิดขณะเป็นดอกตูม ลักษณะจะเหมือนเห็ดระโงกหินทั้งขนาด สี ก็ยังเหมือนกันอีกด้วย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารรวมกับเห็ดชนิดอื่น โดยเฉพาะเห็ดที่ยังเป็นดอกตูม จะแยกชนิดของเห็ดได้ยากว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือเห็ดที่สามารถกินได้
ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเห็ดที่มีลักษณะดอกตูมที่ขึ้นตามธรรมชาติ ถึงแม้จะมีเพียงดอกเดียวก็ตาม สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ 1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน เห็ดระโงกพิษ มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นในแต่ละภาค ภาคเหนือเรียกเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง ภาคอีสานเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก เห็ดระโงกตีนตัน ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงกันมากกับเห็ดที่กินได้ โดยเฉพาะเห็ดดอกอ่อนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ที่ดอกยังบานไม่เต็มที่ 2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ จุดสังเกตคือ ดอกนิ่มและบาง ก้านนิ่มด้านในกลวงตลอดก้าน
ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะกลายเป็นสีดำ ซึ่งวิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกที่มีพิษทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกก็ไม่สามารถทำลายพิษนั้นได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังจากกินเห็ดป่าเข้าไป ไม่ควรล้วงคอหรือให้กินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดพิษไปด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
เปิดแล้ว “รีฟิล สเตชั่น”แห่งแรกในไทย ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้