กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยล่าสุด
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 2 ธันวาคม 2566 จากการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 253 ราย พบสายพันธุ์ XBB.1.9.2* มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 24.5% ถัดมาคือ EG.5* , XBB.1.16* และ XBB.2.3 โดยพบสัดส่วน 23.3%, 17.80% และ 11.90% ตามลำดับ
สถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า สัดส่วนของสายพันธุ์ EG.5* และ XBB.1.92* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของสายพันธุ์ XBB.1.16* กับ XBB.2.3* มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงสองเดือนก่อนหน้า
สำหรับกรณีที่มีการแชร์และส่งต่อข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ว่า เตรียมพร้อมรับมือโควิด 19 ระลอกใหม่สายพันธุ์ XBB.1.16* “อาร์คตูรุส” อาการใหม่ ไม่มีไข้ ตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหลนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2566 พบเป็น สายพันธุ์ XBB.1.16* จำนวน 83 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.4 จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลลักษณะอาการทางคลินิกจากประวัติที่ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB.1.16* พบว่า ส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 90 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เสมหะ ปวดเมื่อย บางรายประมาณร้อยละ 10 มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย/หอบ ร่วมด้วย ไม่พบลักษณะอาการตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล
“สำหรับช่วงนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนๆ เล็กน้อย เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่จะพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ยังคงเป็นมาตรการการป้องกันที่ได้ผลดี ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ มาตรวจสายพันธุ์ เพื่อเฝ้าระวัง การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป และขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตาม การกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ กล่าวสรุป
ผ่าตัดแผลเล็ก ทางเลือกความปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกสันหลัง
“บัตรทอง” เพิ่มสิทธิคัดกรองการได้ยิน ครอบคลุมเด็กไทยแรกเกิดทุกคน
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้