เศรษฐกิจ

ใช้ “ปอล” รับมือ เงินเฟ้อ

21 กรกฎาคม 2565

ไม่ใช่ ปอล ป็อกบา มิดฟิลด์ทีมชาติฝรั่งเศสที่เพิ่งโบกมือลาปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด กลับไปอยู่กับยูเวนตุสในอิตาลี  แต่ “ปอล” ที่ว่านี้ หมายถึง

ป.= ประหยัด

อ. = ออม

ล. = ลงทุน

เงินเฟ้อ vs เงินฝืด

เงินเฟ้อ หมายถึง มูลค่าของเงินลดน้อยลง หรือสินค้าบริการต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น เช่น ปีที่แล้วเงิน 100 บาทเคยเติมน้ำมันได้ประมาณ 3 ลิตร ตอนนี้เหลือแค่ 2 ลิตร

ตรงข้ามกับ เงินฝืด คือภาวะที่ราคาสินค้าบริการต่าง ๆ ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าเงินฝืด น่าจะดีกว่าเงินเฟ้อ เพราะสินค้าราคาถูกลงเราจะได้จับจ่ายใช้สอยกันสนุกคล่องมือขึ้น แต่ในทางทฤษฎี นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าควรดูแลให้มีอัตราเงินเฟ้ออ่อน ๆ เพราะจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้า มีการจ้างงาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักและขยายตัวได้ แต่หากปล่อยให้เกิดภาวะเงินฝืด ผู้ผลิตจะไม่มีแรงจูงใจ เพราะผลิตสินค้าออกมาแล้วขายได้ในราคาถูก จึงผลิตน้อยลง หรืออาจเลิกผลิตไปเลย ก็จะทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง

แต่ขณะเดียวกัน หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงงงงง…ขึ้นมาก และเป็นเวลาต่อเนื่องกันย่อมไม่เกิดผลดี เพราะประชาชนจะเดือดร้อน เหมือนที่เผชิญอยู่ในเวลานี้

เงินเฟ้อเกิดจากอะไร ?

เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจาก 2 สาเหตุ

  1. ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น แต่ปริมาณสินค้ามีเท่าเดิมหรือน้อยลง คนแย่งกันซื้อ ราคาก็เลยแพงขึ้น
  2. ต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาจึงต้องปรับขึ้นตาม

ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ ตอนนี้ คือ ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียส่งออกน้ำมันและก๊าซไม่ได้ ส่วนยูเครนก็ส่งออกธัญพืชไม่ได้ ปริมาณสินค้าหายไปจากตลาด ราคาน้ำมัน ก๊าซ และธัญพืช จึงปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก  ขณะเดียวกันน้ำมัน ก๊าซ และธัญพืชล้วนเป็นปัจจัยสำคัญและวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่น ๆ  จึงทำให้ราคาสินค้าอื่นแพงขึ้นตามไปด้วย จนกลายเป็นที่มาของวลีที่ว่า #แพงทั้งแผ่นดิน (อุ๊ปสส์..)

พระท่านว่าจะระงับทุกข์ก็ให้ดูจากเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แต่จะให้คุณปูตินยุติสงครามก็คงยาก ดังนั้นระหว่างนี้เราต้องเรียก คุณ “ปอล” มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนก่อน

ประหยัด ออม ลงทุน เริ่มได้ทันที

บางคนแนะนำว่า ถ้าเงินในกระเป๋ามีค่าน้อยลง ก็ต้องพยายามหาเงินเพิ่มขึ้น เช่น อาจขยันทำโอที หรือหางานเสริม ทำจ๊อบพิเศษ.. อันนั้นก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ทันที ถ้าหัวหน้าไม่ให้ทำโอที ทำไปก็ไม่ได้เงินเพิ่ม หรืออยากทำอาชีพเสริม แต่ไม่รู้จะทำอะไร  อย่ากระนั้นเลย ถ้าทำความรู้จักคุณ “ปอล” แล้ว ทุกคนเริ่มทำได้ทันที

ประหยัด ในที่นี้ไม่ใช่ ขี้เหนียว แต่หมายถึงลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้เงินที่มีให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์

ส่วนการออม บางคนอาจแย้งว่าเงินที่มีอยู่ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง จะเอาที่ไหนมาเหลือเก็บออม แถมถ้าฝากธนาคาร ก็ได้ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน  หักลบกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ภาษานักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า ดอกเบี้ยติดลบ ด้วยซ้ำ แต่จริง ๆ แล้วการออมเป็นสิ่งที่เราควรทำตั้งแต่เริ่มหาเงินได้เอง (หรือบางคนโชคดีพ่อแม่ช่วยออมให้ตั้งแต่ตัวเองยังไม่รู้จักทำงาน  )

หลักเบื้องต้นของการออม คือ เมื่อมีรายได้เข้ามาต้อง ออมก่อนใช้ เพราะถ้า ใช้ก่อนออม ร้อยทั้งร้อยใช้เพลินจนเกลี้ยงกระเป๋า วิธีออมก่อนใช้จึงควรตั้งเป้าไว้ว่าจะเก็บออมเงินจำนวนเท่าไหร่ ภายในเวลากี่ปี หรือเก็บออมไว้เพื่อทำอะไร เช่น บางคนอยากเก็บเงินซื้อบ้าน หรือไปเที่ยวเมืองนอกปีละครั้ง ต้องกันเงินส่วนนั้นไว้ก่อน เหลือค่อยใช้จ่ายตามความจำเป็น ถ้ายังมีเหลืออีกค่อยใช้ฟุ่มเฟือยได้

นอกจากนี้ การออมยังต้องมีการวางแผนที่ดีด้วย เช่น ถ้าฝากเงินในธนาคารอย่างเดียว แม้จะมั่นคง ความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ได้ดอกเบี้ยน้อยนิด  จึงอาจเลือกทางอื่นไว้ด้วย เช่น ออมเป็นทองคำ หรือพันธบัตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูง บางคนอาจจำเป็นต้องออมเงินน้อยลงบ้าง เพื่อให้มีพอกับรายจ่ายจำเป็น หรือบางคนที่มีเงินออมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็อาจถึงเวลาที่ต้องนำเงินออมออกมาใช้บรรเทาความเดือดร้อน

เงินเฟ้อสูง ลงทุน อะไรดี ??

ทองคำ เป็นทั้งการออมและการลงทุน บางคนชอบซื้อเก็บ แต่บางคนซื้อ-ขายเก็งกำไร  ข้อดีของทองคำ คือ มีมูลค่าในตัวเอง และในระยะยาวราคามักจะสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังซื้อง่ายขายคล่องพอสมควร (บางคนยังไม่อยากขาย เอาไปฝากโรงจำนำก่อนก็ยังได้  )

ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ พวกบ้าน คอนโดฯ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ข้อดีก็เช่นเดียวกับทองคำ คือในระยะยาวจะมีมูลค่าสูงขึ้น แต่จุดอ่อนคือต้องใช้เงินเยอะ ขายยาก และบางอย่างมีค่าใช้จ่ายในการดูแล รวมถึงอาจต้องเสียภาษีรายปีด้วย

วิธีปิดจุดอ่อนที่ว่านี้ คือการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กอง REIT (Real Estate Investment Trust)  ซึ่งมีวิธีลงทุนคล้ายกับหุ้น ใช้เงินน้อยกว่าซื้อบ้านทั้งหลัง คอนโดทั้งห้อง หรือที่ดินทั้งแปลง  การซื้อ-ขายก็คล่องตัวกว่ามาก และที่สำคัญส่วนใหญ่จะมีเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

เช่นเดียวกับ หุ้นปันผล ซึ่งมีวิธีเลือกเบื้องต้นคือดูจากรายชื่อ 30 ตัวในSETHD (High Dividend) แล้วหาข้อมูลอื่น ๆ มาประกอบว่าชอบตัวไหน ตั้งเป้าว่าจะซื้อที่ราคาเท่าไหร่  เลือกซื้อหุ้นที่มีประวัติปันผลเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% เอาแค่ไม่กี่ตัวก็พอ หรือจะใช้วิธีลงทุนแบบ DCA คือทยอยซื้อหุ้นที่เลือกไว้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยสะสมหุ้นได้เป็นกอบเป็นกำ

ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อทั่วโลกยังพุ่งสูงขึ้น นักลงทุนหลายคนเชื่อว่า หุ้นปันผล ทองคำ และ(กองทุน)อสังหา จะเป็นการลงทุนที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้.

ผู้เขียน
ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเศรษฐกิจ

More read

Tags

  • กองทุนรวม
  • การลงทุน
  • การออม
  • ทองคำ
  • ประหยัด
  • หุ้น
  • หุ้นปันผล
  • อสังหา
  • เงินฝืด
  • เงินเฟ้อ