สุขภาพ

14 สัญญาณเตือน กล้ามเนื้อบกพร่อง

1 พฤศจิกายน 2565

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีพ.ศ. 2563 การปิดโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ให้นักเรียนเรียนออนไลน์แทน ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ถดถอยทุกระดับชั้นการศึกษา แต่นักเรียนชั้นประถมต้นเป็นกลุ่มที่มีปัญหาภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยสูง โดยมีพัฒนาการเท่าชั้นอนุบาล

จากการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ที่ทำการสำรวจโดย สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ สะสมไว้หายไป เด็กๆ ลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กเริ่มเข้าเรียนแต่กลับไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะหรือการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เนื่องจากการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยที่ขาดหายไป

สอดคล้องกับข้อค้นพบของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่นอกจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้นำเครื่องวัดแรงบีบมือมาทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบว่า 98% ของเด็กๆ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม และจากการทดสอบมีผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น

สำหรับ 14 สัญญาณเตือน กล้ามเนื้อบกพร่องในเด็กประถมต้น ที่ครูและผู้ปกครองควรหมั่นสังเกต ได้แก่

  1. เดินต่อเท้าและทรงตัวไม่ได้
  2. กระโดดขาเดียว และกระโดดสองขาพร้อมกันไม่ได้
  3. นอนหงายราบ ยกศีรษะจากพื้น โดยไหล่ยังติดพื้นไม่ได้
  4. ไม่สามารถใช้กรรไกรตัดกระดาษ (จับกรรไกรไม่ถูก ไม่มีแรงง้าง และกดกรรไกร)
  5. มือและตาไม่ประสานกันขณะทำงาน
  6. จับดินสอผิดวิธี จัดท่านั่งให้พอดีไม่ได้ มือและตัวเกร็งจนเมื่อย ต้องก้มคอหรือนอนเขียน ควบคุมการเขียนไม่ได้
  7. ลุกขึ้นเดินบ่อย นั่งหลังตรงได้ไม่นาน ต้องเอามือมาค้ำไว้ นั่งห้อยเท้าไมได้ ลุกขึ้นเดินไปมาไม่มีสาเหตุเพราะรู้สึกเมื่อยมาก
  8. ลงบันไดทีละขั้นและต้องใช้ 2 มือจับราวบันได
  9. หยิบจับไม่คล่อง รับหรือถือของแล้วทำตกบ่อย ๆ
  10. ไม่มั่นใจในการลงมือทำกิจกรรมและแยกตัวจากเพื่อน ไม่มีสมาธิ
  11. อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แม้คำพื้นฐาน
  12. ไปห้องน้ำบ่อยและไปครั้งละนาน ๆ บางคนขอไปห้องพยาบาลเพราะปวดหัว ปวดท้องบ่อยผิดสังเกต
  13. ไม่โต้ตอบไม่สื่อสารหรือพูดเป็นคำ ๆ ไม่เป็นประโยค เล่าเรื่องไม่ได้
  14. มีนักเรียนขาดเรียนหลายคนทุกวัน งอแงไม่ยอมเรียนหนังสือ หรือร้องไห้จะกลับบ้าน

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ โค้ชโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า โควิดทำให้เห็นปัญหาชัดขึ้น ถ้าไม่แก้ ปล่อยให้เด็กมีสมรรถนะต่ำไปอย่างนี้ อย่าฝันเลยว่าคนไทยจะไปดาวอังคารได้ ถ้าเรายังไม่วางรากฐาน โดยเฉพาะฐานกายซึ่งง่ายสุดแล้ว เรื่องอื่นก็คงยาก และการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องของโรงเรียนอย่างเดียว ผู้ปกครอง ชุมชน ต้องเข้ามาช่วยเหลือ

การที่เด็กมีฐานกายไม่แข็งแรง เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันแก้ไข ถ้าเข้าใจและลงมือฟื้นฟูจริงจัง การเรียนรู้ของเด็กๆ จะค่อยๆ พัฒนาดีขึ้นภายใน 14 วัน โดยมีตัวอย่างจาก 2 โรงเรียนพัฒนาตนเอง คือ โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) จังหวัดปัตตานี และโรงเรียนผังปาล์ม 2 จังหวัดสตูล หลังจากฝึกอย่างจริงจังพบว่าเด็กส่วนมากมีค่าแรงบีบมือจาก 7.6 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 9.8 กิโลกรัม ทำให้เห็นแนวโน้มที่ดีในการฟื้นฟูเด็ก

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด E-book ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 ได้ที่ https://creativeschools.eef.or.th/article-201022/

ผู้เขียน
ศศิมา ดำรงสุกิจ

บรรณาธิการสุขภาพ สาธารณสุข

More read
  • เทคโนโลยี
  • 13 กันยายน 2567

UNIQ เคสรักษ์โลก iPhone16 มารอแล้ว

Tags

  • RIPED
  • กล้ามเนื้อบกพร่อง
  • กสศ.
  • การเรียนรู้
  • การเรียนรู้ถดถอย
  • ปฐมวัย
  • สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย
  • สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • โควิด 19