ที่ผ่านมา หุ่นยนต์มีบทบาทพลิกโฉมโลกไปพอสมควร แต่คนทั่วไปอาจยังมองไม่เห็น เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์สร้างรถ ช่วยประกอบรถให้เสร็จภายในไม่กี่นาที หุ่นยนต์ภาคการเกษตร ช่วยรดน้ำ ให้ปุ๋ย
แต่หลังจากนี้หุ่นยนต์จะยิ่งมีบทบาทใกล้ชิดชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น เราได้เห็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตามบ้าน กลายเป็นสินค้าขายดีระดับท็อป เราเริ่มเห็นหุ่นยนต์ Indoor Delivery Robot ตามร้านอาหาร และเราก็จะได้เห็นหุ่นยนต์Outdoor Delivery Robot ของเซเว่น อีเลฟเว่น ไปส่งของตามบ้านใกล้ชิดผู้คนด้วยเช่นกัน
นายชูศักดิ์ ทวีกิติกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด ธุรกิจในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า การพัฒนา หุ่นยนต์ส่งของสุดคิ้วท์ หรือ Outdoor Delivery Robot ของ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์ในช่วงก่อนหน้านี้ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาในเฟสที่ 2 โดยแนวคิดที่ทางเครือมุ่งเดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวนั้น มีเบื้องหลังทั้งหมด 5 เรื่อง
1.สร้างขนส่งพลังงานสะอาด (Green Energy Delivery) นำหุ่นยนต์ซึ่งใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% เข้ามาช่วยให้เกิดการขนส่งที่ไม่ก่อมลภาวะ ไม่ส่งเสียงดัง
2.เพิ่มตัวช่วยด้านการขนส่งให้แก่พนักงาน (Delivery Assistant) ใช้เทคโนโลยีระบบนำทางอัตโนมัติ AI ไร้คนขับเข้ามาแบ่งเบาภาระการทำงานของพนักงานหน้าร้าน ในช่วงที่มีปริมาณการสั่งสินค้าเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก รวมถึงช่วยการขนส่งในเวลากลางคืน ตอบโจทย์การเป็นร้านที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
3.เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและพนักงาน (Safety Delivery) ลดความกังวลเรื่อง COVID-19 ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
4.มอบโอกาส Tech Talent สร้างงานที่ท้าทายให้แก่เหล่า Tech Talent รุ่นใหม่ ได้ลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับงานด้าน AI และ Robotics สร้างโอกาสพัฒนาคน และดึงดูดให้บุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมงานกับองค์กรมากขึ้น
5.ปั้นธุรกิจ New S-Curve สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์โลกอนาคต โดยมองโอกาสการนำ Outdoor Delivery Robot เข้าไปช่วยตอบโจทย์การส่งของให้แก่บริษัทหรือร้านค้าอื่นๆ ใกล้ 7-Eleven ไปยังผู้บริโภคด้วย
“บริษัทประเมินว่าหุ่นยนต์จะไม่เข้ามาแย่งงานของคน แต่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยงานของคน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และมีประชากรวัยแรงงานลดลง ลดภาระการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ เป็นประจำ (Routine Tasks) เพื่อให้มนุษย์สามารถนำเวลาไปทำงานที่ยาก มีความจำเป็นต่อความอยู่รอด และมีความซับซ้อนมาก เช่น ปัญหาโลกร้อน มลพิษและขยะ ภาวะขาดแคลนอาหาร การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เชื้อโรคต่างๆ ที่รุนแรงและกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เป็นต้น”
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM กล่าวว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาหุ่นยนต์ในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Indoor Delivery Robot หรือหุ่นยนต์สำหรับใช้ส่งของภายในอาคารเท่านั้น การพัฒนา Outdoor Delivery Robot ถือเป็นเรื่องท้าทายและเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย การทำงานของทีม PIM ทั้ง 7 คน ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบัน จึงถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่โครงสร้างหุ่นยนต์ ตลอดจนการออกแบบรูปลักษณ์และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ อาทิ 3D-Lidar มาร่วมใช้กับหุ่นยนต์ Outdoor Delivery Robot และทดลองใช้ในประเทศไทยครั้งแรก
สำหรับการพัฒนาในเฟสแรก ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จนหุ่นยนต์มีรูปลักษณ์และดีไซน์ดังกล่าว สามารถรับส่งของได้ครั้งละ 2 ออเดอร์ โดยทดลองวิ่งจริงในพื้นที่เฉพาะสำหรับการทดสอบหรือ Sandbox บริเวณพื้นที่อาคารของ PIM และพื้นที่ธารา พาร์ค เพื่อให้แน่ใจว่าการวิ่งส่งของแต่ละครั้งมีความแม่นยำ บนถนนและสิ่งกีดขวางหลากหลายรูปแบบ ขณะที่การพัฒนาในเฟสถัดไป จะพิจารณาการออกแบบหุ่นยนต์ให้มีหลายขนาดมากขึ้น พร้อมตอบโจทย์การรับ-ส่งสินค้าให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่
วันเด็กบนดอยสูงกิจกรรมเติมพลังของนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ
แอลจี เปิดวิถีสุดล้ำใช้ชีวิตในหนึ่งวันด้วย ‘ความอัจฉริยะที่มีเสน่ห์’