สุขภาพ

ภาวะ Long COVID เมื่อโรคหายแต่ยังป่วยไม่จบ

4 ตุลาคม 2565

แม้ว่าโควิด -19 จะถูกลดระดับจาก “โรคติดต่ออันตราย” มาเป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” และมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดต่าง ๆ ก็เริ่มผ่อนคลายลง  แต่แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและระบบทางเดินหายใจยังเตือนให้ระวังโควิด -19 อย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่น่ากังวลใจไม่แพ้กันก็คืออาการป่วยตกค้างหลังหายจากโรค หรือที่เรียกว่า Long COVID นั่นเอง

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่ออาการ Long COVID กันมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่รู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร อันตรายแค่ไหน และเราหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า ยิ่งประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหน้าฝน ก็ยิ่งสับสนไปกันใหญ่ว่าที่รู้สึกไม่สบาย หายใจไม่เต็มอิ่มเป็นเพราะเรามีอาการ Long COVID หรือแจ็กพอตติดซ้ำ หรือว่ากำลังป่วยด้วยโรคอื่นกันแน่?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการ Long COVID แต่ในทางการแพทย์มีสมมติฐานว่าอาจเกิดจากเศษซากของเชื้อไวรัสที่ไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบในระบบต่าง ๆ

พญ.ญาดา หลุยเจริญ อายุรแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “แน่นอนว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงทุกคน แต่ส่วนใหญ่เราพบภาวะ Long COVID ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุหรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30) ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงคือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคปอดเรื้อรัง โรคไต หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาโควิด เช่นมีเชื้อลงปอดหรือปอดอักเสบ กลุ่มนี้ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ด้วยเช่นกัน”

การจะบอกว่าเรามีภาวะ Long COVID หรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าภายในช่วง 3 เดือนหลังจากที่หายป่วยโควิด เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ นานเกิน 4 สัปดาห์ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนและควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาภาวะ Long COVID

“ภาวะ Long COVID สามารถแสดงออกมาได้หลายระบบ เราจึงควรตรวจดูให้แน่นอนว่าเป็นอาการจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือเปล่า เช่น บางคนที่มีอาการเจ็บหน้าอก อาจเกิดจากภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบก็จะเป็นภาวะแทรกซ้อนทางด้านระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบ หรือบางคนมีอาการไอ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หรือเวลาออกแรงก็จะเหนื่อย อาจมีระดับออกซิเจนต่ำกว่าปกติ ซึ่งขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการเหล่านี้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนหลังจากการติดโควิดและเข้ารับการรักษาฟื้นฟูปอด เพื่อให้ปอดฟื้นตัวและแข็งแรงยิ่งขึ้น” พญ.ญาดา หลุยเจริญ อธิบายเพิ่มเติม

วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงภาวะ Long COVID ได้ก็คือ อย่าติดโควิด-19 ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้อีกด้วย ควรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และฉีดกระตุ้นทุก 4 เดือน

แน่นอนว่าการปฏิบัติตัวพื้นฐานอย่างการรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดต่อไป