ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ อบต.จะมัดใจชาวบ้านแล้วจูงมือกันเดินไปสู่เป้าหมายด้วยกัน
เปลี่ยนชาวบ้านธรรมดาๆให้กลายเป็นวิทยากร เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น
เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นคณะทำงาน
วันนี้ อบต.หนองสนิท อ.จอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ทำสำเร็จแล้ว ผ่านแปลงผักเกษตรอินทรีย์ จากโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนตลอด 3 ปี จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.
ปัจจุบัน พื้นที่สาธารณะประโยชน์ของ อบต.หนองสนิท เรียงรายไปด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์ ทั้งต้นหอม คึ่นฉ่าย ผักชี กวางตุ้ง ผักบุ้ง ฯลฯ เขียวขจีอยู่ในมือมีพ่อๆ แม่ๆ ที่ช่วยกันรดน้ำพรวนดินถอนวัชพืช พูดคุยหยอกล้อกันสนุกสนาน อยู่ในแปลงผักแห่งความสุข
แต่ไม่ใช่แต่ละคนจะสักแต่ว่า อยากปลูกอะไรฉันก็จะปลูก สมาชิกของโครงการ ต้องปลูกผักแต่ละชนิดตามแผนการผลิตที่กำหนดไว้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน ล้นตลาด หรือขาดแคลน
ปัจจุบันผักเกษตรอินทรีย์รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก อบต.หนองสนิท วางขายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สุรินทร์ มีรายได้แน่นอนจากการส่งผักอินทรีย์ไร้สารเคมีให้โรงเรียนและ โรงพยาบาลในอำเภอต่างๆ
ผลจากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยและต่อเนื่อง นำไปสู่การประกาศเจตนารมย์ขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำในจังหวัดสุรินทร์ จากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดที่ต้องการส่งต่อวิถีเกษตรอินทรีย์จากรุ่นสู่รุ่น ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ทุกด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน
สมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.หนองสนิท ผู้รับผิดชอบโครงการบอกว่า 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มต้นจากการลองผิดลองถูก เจอปัญหาผักออกมาซ้ำกัน ผักขาดแคลน จึงปรับใหม่ไปคุยกับโรงเรียนในพื้นที่ อบต.หนองสนิท ซึ่งทำโครงการอาหารกลางวัน ขอความร่วมมือปรับเปลี่ยนเมนูอาหารของน้องๆ ให้เหมือนกันทุกโรงเรียน เช่น วันจันทร์เป็นผัดฟักทอง เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนการผลิต ปรับเปลี่ยนมาใช้ผักที่มีในพื้นที่ เพื่อลดการซื้อผักนอกพื้นที่ ซึ่งอาจมีสารเคมีปะปน
ผู้หลักผู้ใหญ่จาก กสศ.เมื่อลงพื้นที่ไปสัมผัสการทำงานของ อบต.หนองสนิท ต่างเห็นภาพเดียวกันก็คือ ความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจกัน สามารถเชื่อมโยงทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเสริมกันและกันกระทั่งกลายเป็นเสน่ห์ของการทำงานในโครงการนี้
เราจะเห็นข้าราชการตัวเล็กๆ ระดับปฏิบัติในพื้นที่มาทำงานร่วมกันกับชาวบ้านอย่างมีความสุข
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบและกรรมการบริหาร กสศ. มองว่า การเกษตรเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่มีทางหลุดพ้นกับดักความยากจนได้ แต่ อบต.หนองสนิทกลับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความยากจนมาสู่การมีรายได้อย่างยั่งยืน
“ความสำเร็จนี้ เปรียบเป็นอำนาจเล็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เป็นอำนาจของ อบต.หนองสนิท ในการบริหารจัดการ ที่มีความโดดเด่นคือ เข้าถึงประชาชนได้ด้วยการเมือง ดึงอำนาจทางวิชาการเข้ามาช่วย และอำนาจของประชาชน มาก่อให้เกิดรายได้อย่างน่าภาคภูมิใจ สามารถยกระดับคนธรรมดาให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า”
จากความสำเร็จดังกล่าว ของ อบต.หนองสนิท นำไปสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้หนองสนิทรุ่งเรืองเมืองเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้ออกแบบให้มีฐานการเรียนรู้ การผลิตผักอินทรีย์ การทำไข่ไก่อินทรีย์ การแปรรูปผลผลิต การบริหารจัดการสหกรณ์ โดย อบต.หนองสนิท
ฐานเรียนรู้ การทำอาหารปลา โดยพันธุ์เจียออแกนิก การทอผ้ากี่เล็ก เส้นไหมธรรมชาติ โดยมูลนิธิขวัญชุมชน และฐานการสาวไหม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
นี่คือหนึ่งในโมเดลการทำงานที่ประสบความสำเร็จของ กสศ.และอบต.หนองสนิท ซึ่งทางฝ่ายบริหารโครงการเห็นพ้องกันว่า ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในพื้นที่ ใช้การประสานงาน ใช้ความร่วมมือมาเติมเต็มกันและกัน สามารถสร้างความแตกต่างและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
การที่ประชาชนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ดีบนฐานความรู้และสติปัญญา
จึงอยากเห็นรูปแบบการทำงาน ของ อบต.หนองสนิท
การศึกษา การเรียนรู้ เมื่อมาหลอมกันจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
นำไปสู่ความสุขของกลุ่มเป้าหมาย
ความภาคภูมิใจของการทำงาน
บรรณาธิการเทคโนโลยี
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้