เก่ง–ดี–มีงานทำ เป็นคุณสมบัติที่ผู้คนในแวดวงการศึกษาจังหวัดสุรินทร์อยากเห็นในตัวเด็กๆ
“จะทำอย่างไรให้โรงเรียนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า โรงเรียนบ้าน…. โรงเรียนวัด…. มีมาตรฐานเท่ากับโรงเรียนที่ขึ้นต้นและลงท้ายด้วยคำว่า โรงเรียนอนุบาล…. วิทยาคม และวิทยาคาร ระบบการศึกษาจะทำอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย ” นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวบนเวทีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานพลังภาคีเครือข่ายปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
เป็นเวทีที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อเชื่อมโยงกลยุทธ์การทำงานกับทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดตัวแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 15 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยจังหวัดสุรินทร์เป็น 1 ใน 15 จังหวัดตัวแบบของ กสศ.
จังหวัดสุรินทร์ ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับกสศ.มาตั้งแต่ ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ความเข้มแข็งของเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดเกิดเป็นเครือข่ายที่เรียกกันว่า ปัญจภาคี
ส่วนโครงการของ กสศ.ที่เข้ามาปิดช่องว่างความเหลื่อมด้านการศึกษาในทุกช่วงวัยภายในจังหวัดสุรินทร์มีทั้ง โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข(ทุนเสมอภาค)
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง(TSQP) โครงการครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนนอกระบบ
มีโอกาสได้ไปโรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา อ.สำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาตนเอง หรือ TSQP ซึ่งมีนักเรียน 347 คน ครู 15 คน นายสุเทพ แปลงทัพ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียน บรรยากาศในโรงเรียนเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นมีชีวิตชีวา เด็กๆ ยกมือไหว้ทักทายแขกผู้มาเยือน เห็นได้ชัด คือทักษะในสื่อสาร ทุกคนกล้าที่จะทักทายและพูดคุยกับคนแปลกหน้าอย่างมีมารยาท
โรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา เป็นโรงเรียนที่มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมกูย (ส่วย) ชัดเจน เด็กๆ ค้นพบฐานความรู้และวัฒนธรรมในชุมชนผ่านการ”แซวผ้า” ชาวกูย หรือการด้นผ้าที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ จนกลายมาเป็นสินค้าทั้งเสื้อ หมวก กระเป๋า ปกสมุด ซึ่งจะนำขึ้นจำหน่ายบน Shopee เร็ว ๆ นี้ ในชื่อแบรนด์ KUI’s
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน บอกว่า การลงมาดูพื้นที่ทำให้ได้แรงบันดาลใจ เห็นคุณค่าของงานที่กำลังช่วยกันทำ ซึ่งเป็นความท้าทาย กสศ.เชื่อมโยงและบูรณาการตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงวัย ผู้พิการ จังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่ตัวแบบที่น่าสนใจว่าจะออกแบบการเชื่อมโยงอย่างไรให้นำไปสู่การเปลี่ยนเชิงระบบ
บนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดทั้ง 3 วัน ใน 3 พื้นที่ ผู้คนในแวดวงการศึกษาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การทำงานแบบปัญจภาคี เป็นตัวช่วยสำคัญในพื้นที่ ทำงานบนฐานของชุมชน ใช้การศึกษาทั้งในและนอกระบบ เป็นเครื่องมือหลักลดความเหลื่อมของกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย เก่ง–ดี–มีงานทำ
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้