ข่าวทั่วไป

ความฝันไม่เคยพิการ

11 พฤศจิกายน 2565

ความฝันไม่เคยพิการเป็นคำพูดของน้องๆ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.

นักศึกษาทุนของโครงการรุ่นแรก จำนวน 9 คนเรียนจบและมีงานทำ บางส่วนก็ไปเรียนต่อ  จากความสำเร็จนี้จึงมีน้องๆ ผู้ที่มีความต้องการพิเศษมาเรียนที่นี่ต่อเนื่องทุกปี

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของนักศึกษาทุนและครูอาจารย์ ทำให้สัมผัสได้ว่า น้องๆ ผู้พิการสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้อย่างมีความสุข

บางวิชา เด็กปกติก็ลอกการบ้านเด็กพิการค่ะคุณครูในวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ แซวลูกศิษย์เรียกเสียงหัวเราะลั่นชอป

อภิชาติ กุลธานี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ กล่าวกับคณะศึกษาดูงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  (กสศ.)  ว่า  ทางวิทยาลัยฯ จัดการศึกษาสายอาชีพให้ผู้พิการมานานแล้ว  เป็นการจัดการศึกษาตามกฎหมายตามนโยบายที่กำหนดให้ผู้พิการต้องได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ต่อมาได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมรับทุนสนับสนุนจาก  กสศ.

ยอมรับว่า ช่วงเริ่มต้นก็ใช้วิธีลองผิดลองถูก ก่อนจะยกระดับมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เป็นสถานศึกษาตัวแบบสำหรับผู้เรียนที่มีความการพิเศษ

.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า   ได้มาเห็นการทำงานของวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ แล้วรู้สึกปลื้มและสมหวัง  นักศึกษาผู้พิการที่จบไปแล้วมีงานทำ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี

กสศ.พยายามผลักดันการจัดการศึกษาเพื่อผู้พิการอย่างเต็มที่  รู้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงยาก หาตัวลำบาก การช่วยเหลือต้องทำในหลายมิติ

ทุกครั้งที่ได้ฟังเรื่องเล่าของผู้พิการ  ต้องอยู่ลำบาก อาชีพก็ถูกจำกัด  ทั้งๆที่เป็นมนุษย์เหมือนกันความพิการเป็นแค่ความแตกต่าง  ประทับใจที่คณาจารย์ของที่นี่บอกว่า ต้องสร้างคนพิการให้ไปอยู่ในอนาคตได้

ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นการให้โอกาส นำไปสู่การมีงานทำ มีรายได้

สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์  รุ่นปัจจุบันกำลังเรียนระดับ ปวส.สายอาชีพ หลากหลายสาขา มีทั้งผู้พิการทางหู ผู้ที่เรียนรู้ช้า แต่ทุกคนสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้อย่างกลมกลืน

ทางวิทยาลัยฯ ได้จัดเรือนพักแยกหญิงชายให้นักศึกษาทุนเหล่านี้ โดยปี 1 ทุกคนจะได้อยู่เรือนพักภายใน เมื่อขึ้นปี 2 ก็จะถูกส่งไปฝึกงานภายนอก

ผู้ที่ไปฝึกงานภายนอกไม่ได้ ทางวิทยาลัยฯ มีร้านกาแฟอยู่ริมรั้วด้านหน้า เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพ

วิธีนี้ช่วยให้ผู้พิการ ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไป ลดการพึ่งพิง เพิ่มประสบการณ์ใช้ชีวิต

ครูบาอาจารย์ที่นี่ ต้องอบรมภาษามือระดับพื้นฐานกันทุกคน บางท่านก็ยอมรับว่า ต้องใช้วิธีฝึกฝนทุกวัน บางทีก็ลืม   เด็กปกติที่เรียนร่วมกันก็เพื่อนกันแล้วก็สอนภาษามือให้กัน  ปรากฎว่าเรียนรู้เร็วกว่าผู้ใหญ่

แม้ร่างกายจะพิการ แต่ความฝันของน้องๆ กลุ่มนี้ไม่เคยพิการ   ระหว่างพูดคุยกันผ่านล่ามภาษามือน้องๆ บอกกับผู้เขียนว่า  อย่าเพิ่งท้อถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • การศึกษาผู้พิการ
  • ความฝัน
  • วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์
  • ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
  • สายอาชีพ
  • อภิชาติ กุลธานี