3นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคว้าทุนวิจัยลอรีอัล
ใครมีความฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องอ่านเรื่องนี้ ค่ะ
เนื้อหางานวิจัยอาจจะเป็นเรื่องที่เราเข้าใจยาก แต่เชื่อเถอะว่ามีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women In Science เป็นโครงการที่เริ่มขึ้นเมื่อ 24 ปีก่อน จากความร่วมมือระหว่าง ลอรีอัล กับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO
โครงการนี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ L’Oréal Foundation โดยให้การสนับสนุนและเชิดชูผลงานของนักวิจัยสตรีทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีในวงการวิทยาศาสตร์
ในประเทศไทย ลอรีอัล ได้มอบทุนให้กับนักวิจัยสตรีไทยที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ มาร่วม 20 ปี ทุนละ 250,000 บาท มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้ 81 ท่าน จาก 20 สถาบัน
งานวิจัยที่จะได้รับรางวัล จะต้องเป็นงานวิจัยที่มีศักยภาพชัดเจนในการสร้างประโยชน์ต่อสังคม มีกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม ผ่านเกณฑ์การชี้วัดของโครงการฯ มีจริยธรรมในการทำงาน และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์
ผู้พิจารณาผลงาน คือผู้ทรงคุณวุฒิในสายวิทยาศาสตร์ มี ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน
ปี 2565 ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ประกาศรายชื่อ 3 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science)
สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน”
หญ้าทะเลเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในระบบนิเวศคาร์บอนสีน้ำเงิน ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แหล่งหญ้าทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กักเก็บคาร์บอนได้สูงสุด 6.8 เทระกรัมต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยมีโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลมากว่า 20 ปี แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมและติดตามระยะยาวอย่างเป็นระบบ งานวิจัยนี้เป็นโครงการแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านนิเวศสรีรวิทยาเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ทีมผู้วิจัยเลือกศึกษาพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และแหล่งหญ้าทะเลที่มีโครงการฟื้นฟู โดยมุ่งเน้นศึกษาหญ้าคาทะเล ซึ่งมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนสูงและเป็นชนิดหลักที่ใช้ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย
ผลการศึกษาจากงานวิจัยจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ช่วยระบุสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยคุกคาม
การฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพราะไม่เพียงจะเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ชายฝั่ง แต่ยังนำไปสู่การเพิ่มแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเล การรักษาระดับธาตุอาหารในน้ำ และการลดการกัดเซาะชายฝั่งได้อีกด้วยสามารถนำไปต่อยอดการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่อื่นๆ ได้
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ มี 2 ท่าน คือ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ จากสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ เพื่อการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม”
การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารอินทรีย์ที่ระเหยง่าย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์
งานวิจัยนี้ศึกษาวิธีดูดซับโลหะหนักที่มักพบปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แหล่งปิโตรเลียม และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยจะลงลึกเรื่องการพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (Metal-organic framework, MOF) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีรูพรุนจากการเชื่อมต่อกันของกลุ่มโลหะ (Metal cluster) และโมเลกุลสารอินทรีย์(Organic cluster) ให้สามารถปรับเปลี่ยนส่วนประกอบและโครงสร้างได้หลากหลาย เพื่อควบคุมหรือเพิ่มคุณสมบัติด้านต่างๆ ให้มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้
ปัจจุบันวัสดุดูดซับใช้กันแพร่หลายทั้งในชีวิตประจำวันและในภาคอุตสาหกรรม แต่วัสดุดูดซับคุณภาพสูงที่ใช้กำจัดโลหะหนักหรือสารอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและค่าใช้จ่ายสูง แม้มีการศึกษาวิจัยและใช้งานวัสดุ MOF อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในไทยยังไม่พบการศึกษาอย่างกว้างขวาง
งานวิจัยนี้ จึงเสมือนการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้อีกนับไม่ถ้วน ที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในชีวิตประจำวัน ในภาคอุตสาหกรรม และในระดับประเทศ ทั้งเลือกพัฒนาวัสดุ MOF จากพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycling PET plastic) พัฒนากระบวนการสังเคราะห์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานใหม่ในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาวัสดุ MOF สำหรับดูดซับสารชนิดอื่น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต
ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับงานวิจัยหัวข้อ “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม”
งานวิจัยนี้ มุ่งเน้นบูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎี เพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และวัสดุขั้นสูงที่ราคาเหมาะสม เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์สารมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลในโรงกลั่นชีวภาพและ ใช้ในการบำบัดก๊าซมลพิษ ได้แก่ ก๊าซเรือนกระจก NOx และ CO2 เป็นต้น ยังช่วยร่นเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุใหม่ๆ ในห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการสัมผัสสารพิษในห้องปฏิบัติการ สร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นชีวภาพ และขยายผลต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมยา เป็นต้น
ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนและนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ–เศรษฐกิจหมุนเวียน–เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) พ.ศ. 2564-2570
ทั้งนี้ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ได้ มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 20 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 81 ท่าน จาก 20 สถาบัน
ไม่ว่าจะทำงานวิจัยด้านไหน หากทำด้วยความมุ่งมั่น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน
บรรณาธิการเทคโนโลยี
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้