โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และ ภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีความหนาแน่นของกระดูก (Bone Density) และคุณภาพของกระดูก (Bone quality) ที่ลดลง ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น แม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย นำมาซึ่งภาวะทุพพลภาพทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในลำดับที่ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยสอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติพบว่า ประชากรไทยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน 80 – 90% ยังไม่ได้รับการประเมินและรักษา โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือนเมื่อเกิดร่วมกับกระดูกสะโพกหักจะมีอัตราการเสียชีวิตในปีแรกถึง 17 % และมีสัดส่วน 80% ที่ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม
นพ.ศรัณย์ จินดาหรา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า โรคกระดูกพรุนเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักใหญ่ คือ ปริมาณมวลกระดูกที่สะสม (Peak bone mass) ไว้มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือ มีการสลายของกระดูกมากกว่าปกติ โดยปกติแล้วมวลกระดูกนั้นจะเพิ่มสูงสุดอยู่ในระหว่างช่วงอายุ 30 – 34 ปี หลังจากนั้นจะมีการสูญเสียของมวลกระดูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในสตรีเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปีแรกและลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามกระดูกจะแข็งแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอาหารเป็นสำคัญ เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายรวมถึงมวลกระดูก โดยเฉพาะปริมาณของแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปมีความสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการเจริญเติบโตของกระดูก
ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวัย ดังนี้ เด็ก 6 เดือนแรก ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 400 มิลลิกรัมต่อวันเด็กอายุ 6 เดือน -1 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 600 มิลลิกรัมต่อวัน เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 700 มิลลิกรัมต่อวัน เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน และเด็กอายุ 9-18 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน (1)
ทั้งนี้อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมากและดูดซึมได้ดี คือ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม (นม 1 กล่อง ปริมาณ 250 ซีซี ให้แคลเซียม 300 มิลลิกรัม) อาหารอื่นๆ ที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ผักที่มีแคลเซียมสูง เช่น คะน้า ตำลึง ผักกระเฉด ขี้เหล็ก ดอกแค สะเดา
3 วิธีช่วยให้กระดูกแข็งแรง
การเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงสามารถทำได้ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนอายุ 30 ปี เป็นการป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้