ข่าวทั่วไป

เรื่องเด็กเล็กที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

30 มกราคม 2566

หน้าห้องเรียนมีรองเท้าคู่เล็กๆ เขียนชื่อเจ้าของรองเท้าไว้ที่ด้านหลังทั้งสองข้าง

  เมื่อก้าวเข้าไปในห้องเรียน แก้วน้ำ และแปรงสีฟัน จัดเรียงรายไว้สวยงาม  ในห้องเรียนมีเสียงหัวเราะคิกคักคลอเคล้าไปกับเสียงของคุณครูที่กำลังพาเด็กๆ ต่อแถวเป็นขบวนรถไฟปู้น ในห้องเรียน อีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กๆในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว จังหวัดลำปาง

สมัชชาการศึกษานครลำปาง

เป็นการรวมตัวของผู้คนหลากหลายอาชีพในจังหวัดลำปางที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน คือ การจัดการศึกษาของจังหวัดลำปาง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้คนลำปางทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  พยายามหาหนทางเชื่อมโยงการทำงาน ทั้งโครงการทุนเสมอภาค ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา   โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ และโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เป็นต้น

โดยมีเป้าหมายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีภาคีเครือข่ายภายในจังหวัดทำงานร่วมกัน  ในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง

ลำปาง คือ 1 ใน 12 จังหวัดที่ กสศ.ผลักดันให้เป็นจังหวัดตัวแบบด้านการจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง   

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว .เมือง ลำปาง เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ทางการเรียนรู้อย่างชัดเจนทั้งจากตัวเด็ก ผู้ปกครองและคุณครูพี่เลี้ยง

ครูเทียน ครูผู้ทุ่มเทให้กับเด็กเล็ก

คุณครูมนเทียน  สุริยะรังษี  ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว  และผู้นำเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.)   เล่าให้ฟังว่า  สมัชชาการศึกษานครลำปาง ต้องการพัฒนาเด็กปฐมวัยของลำปาง มาชักชวนให้ทำงานด้วยกัน  ครูเทียนจึงหารือกับคณะกรรมการเครือข่ายครูทั้ง 13 อำเภอ ก็มีความเห็น ตรงกันว่า ต้องการพัฒนาครูพี่เลี้ยง เพราะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กมาก แต่ต้นทุนความรู้การจัดประสบการณ์ พัฒนาการเด็ก อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เลี้ยงดูเหมือนที่เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน

ก่อนที่ โครงการของ กสศ.จะเข้ามา ได้งบจากยูนิเซฟให้ครูไปอบรมที่ส่วนกลาง เมื่อกลับมาถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ปกครอง ใช้วิธีเวียนกันมาอบรม ตามความสนใจที่จะพัฒนาลูกในด้านต่างๆ  เมื่อทำไปแล้วพบว่า พัฒนาเด็กได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองมีความเข้าใจ ส่งเสริมพัฒนาการได้ง่ายขึ้น 

เมื่อ กสศ. สนับสนุนงบประมาณ  จึงต่อยอดขยายเครือข่าย ได้หลักสูตรส่งเสริมความรู้จากครูสู่ผู้ปกครอง 5 ด้านคือ พัฒนาการสมองส่วนหน้า (EF)  วินัยเชิงบวก การสื่อสารเชิงบวก พัฒนาการและการเล่น  สุดท้ายคือ โภชนาการ

ฝันเป็นจริงของคุณครูเทียน

ระเบียบวินัยเริ่มจากทางบ้าน  เมื่อก่อนผู้ปกครองอยากจะเอาเด็กมาเวลาไหนก็จะมา คิดว่าเป็นเด็กเล็ก เรียนบ้างไม่เรียนบ้างก็ไม่เป็นไร เมื่อผู้ปกครองผ่านการอบรม  ก็จะรู้ว่า การที่เด็กมาโรงเรียนสายทำให้ขาดโอกาสร่วมกิจกรรมหน้าเสาธง

ในชีวิตครูปฐมวัย  ความฝันของครูเทียนที่จะพัฒนา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตอนนี้ความฝันของครูเทียนเป็นจริงแล้ว ภูมิใจที่ได้พัฒนาร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ภายในจังหวัด

ตัวแทนผู้ปกครองก็ยอมรับว่า หลังผ่านการอบรมทำให้เข้าใจลูกมากขึ้น การเลี้ยงดูก็ง่ายตามไปด้วย

บรรยายภาพ : ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ  (กลาง) ดร.วิยดา เหล่มตระกูล (ซ้าย) คุณครูมนเทียน สุริยะรังษี (ขวา)

ดร.วิยดาหล่มตระกูล  คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  บอกว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในลำปาง  เน้นที่ศูนย์เด็กเล็ก   เมื่อไปเจอครูเทียน จึงเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็น 13 อำเภอเพิ่มเครือข่ายและพื้นที่เสริมพลังครูให้เข้มแข็ง  เกิดกลไกเครือข่ายในอำเภอ สามารถผลักดันความช่วยเหลือเด็กทุกช่วงวัย  รวมถึงครู และเด็กในระบบที่เสี่ยงหลุดจากการศึกษา

  .ดร.สมพงษ์  จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ.และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ    ย้ำว่า  กสศ.ทำงานเป็นเครือข่าย จากล่างขึ้นบน จะติดตามช่วยเหลือและค้นหาองค์ความรู้ต้นแบบแสวงหาโจทย์เล็กๆ แต่เป็นคำตอบของการศึกษา

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เบื้องต้นมาจากผู้ปกครอง ครอบครัว  และสถานศึกษา   ปัจจัยที่ทำให้พาลูกออกจากโรงเรียนคือ ปัญหาหนี้สิน  หนี้นอกระบบ งานไม่แน่นอน จึงทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะเอาลูกออกจากระบบการศึกษา เมื่อเด็กเริ่มขาดเรียน  หากโรงเรียนไม่ช่วย จังหวัดไม่สนใจ  เด็กมีโอกาสออกกลางคันสูง จะตามยาก  กลายเป็นเด็กเยาวชนนอกระบบ  หรือเด็กมือสองของสังคม

เพชรล้ำค่าของลำปาง

.ดร.สมพงษ์  มองว่า สมัชชาการศึกษาลำปาง เป็นคีย์เวิร์ดที่ไขปัญหาการศึกษาได้มหาศาล   คือเพชรล้ำค่าของลำปาง  ซึ่งมาจากทุกฝ่าย ความหลากหลาย ความแตกต่าง เป็นการรวมกลุ่มเครือข่ายที่เปลี่ยนแปลงการศึกษาในจังหวัดได้ดีกว่าคำสั่งจากส่วนกลาง

ถ้าอยากให้การศึกษาของลูกหลานซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง ต้องช่วยกันเสริมพลังบวกให้คุณครู ร่วมเป็นเครือข่ายจับมือเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยกัน

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • จังหวัดจัดการตัวเอง
  • มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง
  • ลำปาง
  • สมัชชาการศึกษานครลำปาง
  • เด็กเล็ก