หลายคนเชื่อว่าถ้าเกิดอาการชัก จะต้องหาอะไรมางัด ง้าง ถ่างปาก เพื่อป้องกันการกัดลิ้น จริง ๆ แล้วเป็นการปฐมพยาบาลที่ผิด
เนื่องในโอกาสวันโรคลมชักสากล (International Epilepsy Day) ในวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ สถาบันประสาทวิทยา ร่วมสร้างความตระหนักรู้ ถ้าเราไปเจอคนกำลังชัก ให้ตั้งสติ ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด เพราะชักหยุดได้เอง แค่ดูแลให้ผู้ป่วยชักอย่างปลอดภัย ถ้าชักนานเกิน 5 นาที หรือได้รับบาดเจ็บจากการชัก โทร 1669 หรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
เหตุผลที่ ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด คือ เกินกว่า 95% ของอาการชัก จะหยุดได้เอง ในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาทีการไปงัดฟัน ง้างปาก ไม่ได้ช่วยให้หยุดชัก แต่อาจจะทำให้ฟันหลุด หรือวัสดุที่ไปงัด หลุดลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นอันตรายถึงชีวิต
การไปถ่างแขนขาที่กำลังเกร็งกระตุก จะเกิดการสู้แรงกันโดยไม่จำเป็น หลังหยุดชัก ผู้ป่วยจะบาดเจ็บมากขึ้น ส่วนการไปกดท้อง กดหน้าอก ไม่ช่วยทำให้ชักหยุด แต่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น ซี่โครงหัก อวัยวะในช่องท้องได้รับบาดเจ็บ
การช่วยเหลือ คือการไม่ต้องช่วยผู้ป่วย แต่ช่วยดูสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้ถนน ต้องช่วยระมัดระวังไม่ให้ตกน้ำหรืออยู่ในระยะการสัญจร ถ้าอยู่ใกล้วัตถุหรือวัสดุที่อาจจะตกหรือล้มใส่ ต้องจัดการวัตถุเหล่านั้นให้ห่าง หากมีอาการกระตุกแรงบนพื้นแข็ง อาจจะช่วยหาอะไรรองศีรษะหรือส่วนของร่างกายที่มีการกระแทก
ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากเหตุอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการชัก ท่องให้ขึ้นใจเอาไว้อีกที “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง”
ถ้ายังไม่เข้าใจ ลองไปฟังเพลง “งดก่อน” คำร้อง พว.พจนารถ อินปา ทำนองเพลง ศิลปิน Milli ขับร้องโดย พว.พจนารถ อินปา อำนวยการผลิตโดย หน่วยตรวจวินิจฉัยโรคลมชัก สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คลิกเข้าไปฟังกันได้ที่ https://youtube.com/watch?v=08lcIguZztc&feature=share
“หมอนรองกระดูกยื่น” กับ “กระดูกสันหลังเคลื่อน” ปวดหลังเหมือนกัน แต่รักษาต่างกัน
Voice for change ผลักดันสิทธิการรักษามะเร็งตับด้วยยานวัตกรรม
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้