ทรู–ดีแทคเกี่ยวก้อยเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
รวมกันเป็น “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทโทรคมนาคม–เทคโนโลยี “Better Together ชีวิตดีกว่าเมื่อมีกันและกัน รวมพลัง สู่ 7 กลยุทธ์หลัก
เมื่อวาน ประชาสัมพันธ์ทรู และดีแทค ส่งจดหมายเชิญนักข่าวมางานแถลงข่าวใหญ่ของบริษัท และเป็นข่าวใหญ่ของสายเทคโนโล่ โดยช่วงบ่าย 2 มีนาคม 2566 ภายใต้ชื่อ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทใหม่ที่รวมจุดแข็งของทั้งคู่ มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของไทย
ผ่านแนวคิดชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together)
รวมกันเป็นหนึ่ง
ปัจจุบัน ทรูมูฟ เอช มีผู้ใช้งาน 33.8 ล้าน ดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย ผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย ผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย
มูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท
ขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพ
นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าวิสัยทัศน์ของเราคือ การมุ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคม ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล ออกจากกรอบความคิดแบบเดิมในการทำธุรกิจโทรคมนาคมปลดล็อกสู่การเติบโตในระยะยาว เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทยและปูทางให้ประเทศไทยก้าวสู่ตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในโลกดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัทใหม่จะได้ประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) ทั้งด้านการลงทุนและรายได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เครือข่ายไอที การจัดซื้อ การขาย การตลาด ช่องทางการค้าปลีก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยจะนำสู่สมดุลความเสมอภาคและความเท่าเทียมในการแข่งขัน และจะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดของลูกค้า
“ทรู คอร์ปอเรชั่น” จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับดิจิทัลสตาร์ทอัพซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ บริษัทใหม่จะร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของสตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น ซึ่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและความเชี่ยวชาญที่พัฒนาจากเทเลนอร์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติอีกด้วย
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พันธกิจขององค์กรคือ เร่งพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง สนับสนุนคนเก่งรุ่นใหม่ด้านดิจิทัล และการนำเสนอนวัตกรรมบริการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า ตลอดจนสร้างสังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืน เราจะมุ่งสร้างศักยภาพให้กับธุรกิจ และก้าวสู่ความเป็นผู้นำในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”
โดยจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ในปี 2569 พร้อมพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตามรายงานโดยการวิจัยของ GSMA คาดว่า 5G จะช่วยผลักดันการเติบโตของGDP ในประเทศไทยที่มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท) ในปี 2573
ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะให้บริการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ “ทรู” และ “ดีแทค” โดยลูกค้าสามารถใช้สัญญาณคุณภาพดีขึ้นทันทีจากสัญลักษณ์เครือข่าย dtac-True และ True-dtac บนหน้าจอมือถือ ซึ่งเป็นก้าวแรกในการพัฒนาคุณภาพสัญญาณโมบายล์อินเทอร์เน็ตด้วยการ “โรมมิ่ง” สัญญาณข้ามโครงข่าย เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 MHz และลูกค้าทรูสามารถใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 MHz ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว จะขยายครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางมีนาคมนี้
นอกจากนี้ บริษัทใหม่ จะมุ่งสู่การการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนในแนวทางESG (Environment, Social, and Governance) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล กำหนดเป้าหมายก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutral ในปี พ.ศ. 2573 และNet zero ภายในปี พ.ศ. 2593 รวมทั้งการลดปริมาณขยะฝังกลบ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี พ.ศ. 2573
สำหรับด้านสังคมจะลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลโดยเดินหน้าโครงการทรูปลูกปัญญา, dtac Safe Internet, ดีแทค เน็ตทำกิน โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างทักษะและเชื่อมต่อดิจิทัลให้กับประชากรกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย กลุ่มคนLGBTI และผู้สูงวัย และด้านบรรษัทภิบาลจะดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ต่อต้านคอร์รัปชัน (Zero Tolerance Corruption) การทุจริตต้องเป็นศูนย์ และคำนึงถึงด้านสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานสำคัญ
GARMIN ‘APPROACH Z30’ เครื่องวัดระยะระบบเลเซอร์รุ่นใหม่สุดล้ำ
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้