ออกวิ่งกับเพื่อนชื่อ Apple Watch
ปกติก็ออกกำลังกายเป็นประจำ ส่วนใหญ่จะเดินและวิ่งรอบหมู่บ้านทุกเช้าๆ วันละ 4-5 กิโลเมตร จากที่ไม่เคยรู้จักสมาชิกในหมู่บ้านเลย ตลอด 3 ปี ที่ผู้คนติดอยู่ในสถานการณ์โรคโควิด -19 ทำให้รู้จักผู้คนในหมู่บ้านเดียวกันที่ชอบออกกำลังกายมากมาย
ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย สังเกตเห็นได้ชัดก็คือ กลุ่มผู้สูงวัยที่รักการออกกำลังกายเหล่านี้ เริ่มมีสมาร์ทวอทช์เป็นตัวช่วย เพื่อดูจำนวนก้าว ระยะทาง และอัตราการเต้นของหัวใจเป็นหลัก เมื่อเห็นผู้เขียนใส่ Apple Watch จึงมักจะมาสอบถามวิธีใช้งาน วิธีตั้งค่าฟีจเจอร์ต่างๆ อยู่เป็นประจำ
ก็เลยได้ไอเดียเขียนเล่าให้ฟังถึงความสามารถอื่นๆ ของ Apple Watch บนข้อมือเรา
มี Apple Watch เป็นเพื่อนวิ่ง
จากที่วิ่งรอบหมู่บ้าน เส้นทางคุ้นเคยดีทุกตารางนิ้ว คราวนี้ขอไปลองวิ่งที่สวนเบญจกิติ ซึ่งอยู่กลางกรุงเทพฯ ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่มาใช้บริการสวนสาธารณะอันสวยงามและกว้างใหญ่แห่งนี้
ไม่ต้องกลัวหลงค่ะ นาฬิกาบนข้อมือเรา มีแผนที่และเข็มทิศ นำพาเรากลับมายังจุดตั้งต้นได้ค่ะ ก่อนออกสตาร์ท ให้ไปที่ไอคอนหรือสัญลักษณ์สีเขียวรูปคนกำลังวิ่ง กดลงไปจะมีกีฬาหลากหลายอย่างให้เราเลือก วันนี้จะไปวิ่งในสวน กดเลือกวิ่งกลางแจ้ง หรือ Outdoor แล้วเปิดใช้งาน จะเซ็ตตั้งค่าเวลา ระยะทางไว้ตามเป้าหมายที่ต้องการไว้ก็ได้
ถ้ารีบ ก็แค่เลือกประเภทกีฬา แล้วออกสตาร์ทได้เลยค่ะ
ระหว่างวิ่ง หน้าปัดนาฬิกาจะแสดงรายละเอียดให้เห็นทั้งอัตราการเต้นหัวใจ ระยะทาง ฯลฯ อันนี้รับรองว่าทำตามง่ายมากค่ะ
ถ้าชอบรายละเอียดอยากรู้ประสิทธิภาพการวิ่งของตัวเอง นาฬิกาบอกได้ลึกถึง การกระเด้งตัวขณะวิ่ง ค่าความยาวของจังหวะก้าวเท้า ระยะเวลาที่เท้าแต่ละข้างสัมผัสกับพื้นขณะที่กำลังวิ่ง Apple Watch จะบันทึกให้อัตโนมัติ
วิ่งเสร็จให้เข้าไปที่แอปรูปหัวใจสีแดง บน iPhone จะมีข้อมูลเชิงลึกทั้งหมด
วิ่งๆอยู่ โอ้….. มุมนี้สวยอยากถ่ายรูป (ความจริงคือหมดแรง) แต่มาคนเดียว ไม่อยากเซลฟีแบบเห็นแค่ครึ่งตัว แนะนำให้ หยิบไอโฟนออกมาหาที่วางให้มั่นคง ใช้ Apple Watch เปิดกล้องหน้า ดูภาพจากจอนาฬิกา แอ็คชั่นไปค่ะ จะกระโดดโชว์ความแข็งแกร่งของหัวเข่าก็ได้ แค่กดชัตเตอร์ผ่านนาฬิกาซึ่งจะหน่วงเวลาให้เราประมาณ 3 วินาที ถ้าจะกดทันทีก็ปิดตั้งเวลาได้ค่ะ
วิ่งเสร็จสามารถกดแชร์เส้นทาง อวดความพยายามของเราให้เพื่อนๆดูบนโชเชียลได้ค่ะ
นายแพทย์ภัทรภณ อติเมธิน คุณหมอประจำคลินิกวิ่งของโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีคำแนะนำว่า จะวิ่งโซนไหน ระยะทางไกลแค่ไหน ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของร่างกายเราเป็นหลักจะดีที่สุด
พัฒนาการของแอปหัวใจบน Apple Watch
ปี 2015 มีแอปวัดการเต้นหัวใจ
ปี 2017 พัฒนาให้บอกถึงระดับสูงต่ำของอัตราการเต้นหัวใจ
ปี 2018-2022 มีคุณสมบัติเตือน lrregular Rhythm
ปี 2018-2020 มี ECG แอป
มีข้อมูล Afib หรือการติดตามจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ หรือภาวะห้องหัวใจสั่นพริ้วเต้นผิดจังหวะ เก็บข้อมูลส่งเป็นไฟล์ PDF ได้ หรือจะกลับไปดูย้อนหลังก็ได้
แต่ถ้านาฬิกาตรวจพบเจออะไร ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกฟันธงว่า ตัวเองป่วยหรือผิดปกตินะคะ ต้องดูกันไปยาวๆ สักระยะ หากยังกังวลค่อยไปปรึกษาแพทย์
ที่ทำได้แบบนี้ เพราะ Apple Watch ได้รับการรับรองให้เป็นเครื่องมือแพทย์ ประเภท Class 1 นะจ๊ะ
ไม่ชอบวิ่งก็จะชวนเล่นโยคะ
มีโอกาสไปเรียนโยคะกับครูหมอดุล นายแพทย์สมดุล หมั่นเพียรการ คุณหมอฟันซึ่งมีงานประจำที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ งานอดิเรกของคุณหมอคือ สอนโยคะมานานหลายสิบปี
ครูหมอบอกว่า เคยมีปัญหาปวดคอบ่าไหล่จากการทำงาน รักษามานานก็ไม่หาย เมื่อไปฝึกโยคะทุกอย่างก็ดีขึ้น แล้วพัฒนาต่อเนื่องจนกระทั่งเป็นครูสอนโยคะ
คุณหมอไม่ชอบคาร์ดิโอ ไม่ค่อยชอบเวทเทรนนิ่ง ระหว่างสอนจึงใช้ Apple Watch มากระตุ้นนักเรียน เน้นอัตราการเต้นหัวใจแบบต่อเนื่อง ค้างท่าให้นานขึ้น เพื่อเน้นกล้ามเนื้อ
ก็เพราะท่าโยคะของคุณหมอดุลนี่แหละ วันรุ่งขึ้นกล้ามเนื้อระบมทั้งตัว แต่รู้สึกดีสุดๆ เหมือนได้ยืดเหยียดร่างกายแบบจัดเต็ม
การออกกำลังกายไม่ว่าจะเลือกกีฬาประเภทไหน ก็ล้วนแต่ดีต่อสุขภาพ ต้องทำต่อเนื่องให้เป็นกิจวัตรประจำวัน แต่อย่าหักโหม
จำไว้ว่า มากไปไม่ดี น้อยไปไม่ดี เอาแต่พอดี เพื่อให้มีสุขภาพดีขึ้น
บรรณาธิการเทคโนโลยี
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้