สุขภาพ

‘สมาร์ทบรีธ’ อุปกรณ์ฟื้นฟูปอดผู้ป่วยทางเดินหายใจ

21 มิถุนายน 2566

ปัจจุบันมีผู้ที่มีปัญหาหรือมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับทางเดินหายใจจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย สาเหตุมาจากหลากหลายโรค ทั้งโรคติดต่อ อาทิ วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดสายพันธุ์ต่างๆ โควิด-19 และโรคไม่ติดต่ออย่าง มะเร็งปอด อีกทั้งยังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีความคิดตรงกันในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจสามารถรักษาทางการแพทย์ได้สะดวกมากขึ้นแม้มีข้อจำกัดระยะทาง ด้วยการรังสรรค์ผลงาน ‘อุปกรณ์ฝึกหายใจแบบชาญฉลาด (Smart Breath)’ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงภายใต้สุขภาพกายและใจที่แข็งแรง

รศ.ดร. ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่า กทปส. ได้ให้การสนับสนุนโครงการขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ จนทำให้ทีมนักวิจัยสามารถสร้างผลงานด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสำเร็จ และทำให้ผลงาน ‘อุปกรณ์ฝึกหายใจแบบชาญฉลาด (Smart Breath)’ ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ผ่านนวัตกรรมจากนักวิจัยชาวไทยเพื่อคนไทยด้วยกันเอง

ด้าน ดร.กิตติคุณ ทองพูล ผู้พัฒนาผลงานอุปกรณ์ฝึกหายใจแบบชาญฉลาด (Smart Breath) และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจและต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการฝึก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ต้องการฟื้นฟูประสิทธิภาพของปอด ฝึกการบริหารปอด ฝึกการหายใจ โดยต้องมีการสังเกตและประเมินด้วยตนเอง และ ฃ กลุ่มผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งจะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของปอดของผู้ป่วยก่อน ถัดมาจึงจะให้ผู้ป่วยฝึกหายใจได้ด้วยตนเอง โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องประเมินและวิเคราะห์ผลอย่างต่อเนื่อง

อุปกรณ์ฝึกหายใจในปัจจุบันเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำมาวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยในระยะฟื้นฟู ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนา ‘อุปกรณ์ฝึกหายใจแบบชาญฉลาด (Smart Breath)’ โดยเป็นการนำศาสตร์ทางวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ ตัวเครื่องจะมีส่วนเมาท์พีซให้ผู้ป่วยเป่าลมเข้าเครื่อง และข้อมูลจะถูกแปรผลและส่งไปยังแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถบันทึกข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้

สำหรับข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลจากการวิเคราะห์ความแข็งแรงของปอดผ่านปริมาณลมที่เป่าเข้าเครื่องในแต่ละวินาที โดยการเป่าลมเข้าเครื่องเพื่อวัดผลนั้นจะมีการกระตุ้นผ่านเกม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นเต้น และไม่เครียดกับการทำการฟื้นฟู นอกจากมีการบันทึกผลให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยเห็นพัฒนาการจากกิจกรรมการฟื้นฟูของตนเองได้ด้วย

“ทางด้านการเก็บข้อมูลของผู้ป่วย จะเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบบลูทูธไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลเป็นตัวเลข หรือกราฟเพื่อเปรียบเทียบก็ตาม และเก็บข้อมูลบนคลาวด์ในรูปแบบล็อก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้ในทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ลดภาระในการเดินทางของผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้หมอเข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น ถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดระบบการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น” ดร.กิตติคุณ กล่าวสรุป