พ.ย.นี้ เตรียมนั่งฟรีกับรถไฟฟ้า“สายสีชมพู”
รถไฟฟ้าสายสีชมพู เตรียมให้นั่งฟรีเดือน พ.ย. พร้อมเปิดให้บริการจริง 18 ธ.ค. 66 ค่าโดยสารใกล้เคียงสายสีเหลือง
เพจไทยคู่ฟ้า รายงานว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี บริษัทผู้รับสัมปทานโครงการ ได้แจ้งความคืบหน้าให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทราบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) อย่างต่อเนื่องซึ่งยังไม่พบปัญหาใด ทั้งการเคลื่อนรถภายในระหว่างโรงจอดและซ่อมบำรุง การให้เจ้าหน้าที่สถานีตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของระบบต่าง ๆ ที่สถานี และการทดสอบเดินรถตามตารางเดินรถ
ระยะที่ 1 จากสถานีมีนบุรี (PK30) ถึงสถานีศูนย์ราชการ (PK12) และจะทำการทดสอบไปจนถึงวันที่22 ต.ค. 66 จากนั้นจะต่อด้วยระยะที่ 2 ตลอดเส้นทางจากสถานีมีนบุรี (PK30) ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยจะทดสอบถึงวันที่ 19 พ.ย. 66 รวมระยะเวลาทำ Trial Run ประมาณ 3 เดือน และพร้อมเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 18 ธ.ค. 66
หลังจากสิ้นสุดการทำ Trial Run วิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (Independent Certification Engineer : ICE) และ รฟม. จะประเมินผลการดำเนินงาน และประเมินความพร้อมของงานโยธา งานเดินรถ และงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการฯ ว่ามีความพร้อมและปลอดภัย จึงจะอนุญาตเปิดให้บริการได้ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรี 1 เดือน ประมาณกลางเดือน พ.ย. 66 และเริ่มเก็บค่าโดยสารประมาณกลางเดือน ธ.ค. 66
ปัจจุบันการก่อสร้างสำเร็จไปแล้วกว่า 97.54% สำหรับอัตราค่าโดยสารจะเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด42 บาท และจะปรับเปลี่ยนตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โดยจะใช้ CPI 3 เดือนก่อนวันที่เริ่มให้บริการคาดว่าจะใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่เริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท
แนวเส้นทางของสายสีชมพู
ระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) ใช้โครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตมีนบุรีและจังหวัดนนทบุรี มีความยาวของแนวเส้นทางทั้งสิ้นประมาณ 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี
โครงสร้างสถานีเป็นลักษณะโครงสร้างยกระดับเหนือพื้นผิวถนน ชานชาลาของสถานีจะอยู่ในรูปแบบของชานชาลาด้านข้างหรืออยู่ตรงกลางขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของใน แต่ละสถานี โดยบางสถานีจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีบันไดเลื่อน ลิฟท์ ห้องน้ำ ป้ายประชาสัมพันธ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผู้พิการอีกด้วย
ศูนย์ซ่อมบำรุง
ศูนย์ซ่อมบำรุงมีนบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ว่างริมถนนรามคำแหง ระหว่างซอยรามคำแหง 192 และคลองสองต้นนุ่น ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินขนาดประมาณ 229 ไร่ โดยมีพื้นที่สำหรับซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ทั้งการตรวจสอบประจำ (Inspection) และการซ่อมบำรุง (Maintenance and Repair) พื้นที่สำหรับจอดรถไฟฟ้าและสำนักงานรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ในบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงยังเตรียมพื้นที่สำหรับจอดรถและอาคารจอดแล้วจร ซึ่งสามารถให้บริการสำหรับผู้โดยสารทั้งของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้มได้ โดยบริเวณด้านหน้ามีสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ระหว่างรถไฟฟ้าทั้งสองสาย
คานทางวิ่ง
Guideway Beam หรือคานทางวิ่งถูกติดตั้งไว้เป็นคู่ขนานกันไปตลอดทั้งเส้นทาง โดยระหว่างคานทางวิ่งมีการติดตั้ง Walkway เพื่อใช้สำหรับอพยพในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงมีการติดตั้ง Conductor rail หรือรางจ่ายไฟตลอดทั้งเส้นทาง
ประเภทของคานทางวิ่งที่ใช้ในโครงการแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะโครงสร้าง คือ
1. โครงสร้างเป็นคอนกรีต (Concrete Guideway Beam) เป็นคานทางวิ่งที่ใช้ทั่วไปในโครงการ มีความยาวประมาณ 30 เมตร
2. โครงสร้างเป็นเหล็ก (Steel Guideway Beam) มีความยาวตั้งแต่ 20 – 70 เมตร ใช้ในช่วงเส้นทางที่มีรัศมีวงเลี้ยวแคบ หรือระยะห่างระหว่างเสามากกว่าปกติ เช่น ช่วงข้ามคลองหรือทางแยกขนาดใหญ่
ขบวนรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าใช้กระแสไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์ โดยใน 1 ขบวน จะประกอบไปด้วยตู้ 4 ตู้ ซึ่งในอนาคตสามารถต่อตู้เพิ่มได้เป็น 7 ตู้ต่อขบวนซึ่งจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
ขบวนรถเป็นแบบคร่อม (Straddle) ไร้คนขับซึ่งเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ความเร็วในการให้บริการสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลัก Universal Design และระบบความปลอดภัยภายในขบวนรถแบบครบครัน จำนวนขบวนรถทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ 42 ขบวน
ระบบโดยรวมและระบบเก็บค่าโดยสาร
ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้ากำลังและการเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี จะเหมือนกับสายเฉลิมรัชมงคล
ข้อมูลจาก https://www.mrta.co.th/th/the-pink-line
ข้อมูลจาก www.thaigov.go.th
Facebook: ไทยคู่ฟ้า
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้