เทคโนโลยี

“ไทเทเนียม” วัสดุในฝันแห่งวิศวกรรมอวกาศแห่งอนาคต

22 กันยายน 2566

ไทเทเนียมวัสดุในฝันแห่งวิศวกรรมอวกาศแห่งอนาคต

หลายคนคนมี iPhome 15 อยู่ในมือแล้ว  เพราะวันนี้ (22 กันยายน 2566  ) เป็นวันแรกที่ Apple วางขาย  iPhone 15 ทุกรุ่นในประเทศไทย   แต่รุ่นที่กำลังถูกพูดถึงมากที่สุดคือ iPhone15 Pro  และ 15Pro Max ซึ่งตัวเครื่องทำจากไทเทเนียม

หลายคนๆ จึงพากันเรียกสั้นๆ ว่า iPhone 15 ไทเท

มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับไทเทเนียม  ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) องค์กรมหาชน  หรือ NARIT  ได้เผยแพร่บทความของ ดร. มติพล ตั้งมติธรรมนักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. เกี่ยวกับไทเทเนียม  ไว้ดังนี้

ไทเทเนียมวัสดุในฝันแห่งวิศวกรรมอวกาศแห่งอนาคต

การเปิดตัวของ iPhone 15 Pro รุ่นใหม่ มีการใช้ไทเทเนียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นวัสดุและเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศ ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าเพราะเหตุใด ไทเทเนียมจึงเป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวิศวกรรมการบินอวกาศ

ธาตุไทเทเนียม มีคุณสมบัติเป็นโลหะ สีเทาเงิน ทนทานต่อการกัดกร่อนได้ดี และมีจุดหลอมเหลวที่สูงถึง 1,668 °C จึงทนต่ออุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมอันสุดขั้วได้ดี

แต่สิ่งที่ทำให้ไทเทเนียมนั้นโดดเด่นที่สุด อยู่ที่ความแข็งแรงของมัน หากเราเปรียบเทียบกันแล้วแม้ว่าไทเทเนียมจะทนแรงเค้นได้น้อยกว่าเหล็กที่ขนาดเท่ากัน แต่ก็มีน้ำหนักเบากว่ามาก

และแม้ว่าไทเทเนียมจะหนักกว่าอะลูมิเนียม แต่มันกลับมีความแข็งแรงมากกว่าถึงสองเท่า ทั้งหมดนี้จึงทำให้โลหะผสมไทเทเนียม (titanium alloy) เป็นโลหะที่มีความแข็งแรงต่อน้ำหนักที่สูงที่สุดที่มนุษย์รู้จักในปัจจุบัน

นั่นหมายความว่าหากเราต้องการสร้างโครงสร้างหนึ่งที่ทนทานต่อแรงที่เกิดขึ้นในการใช้งานโครงสร้างที่สร้างจากโลหะไทเทเนียมจะมีน้ำหนักเบาที่สุดในหมู่โลหะทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก และด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อการกัดกร่อน และอุณหภูมิสุดขั้วอีกเช่นกัน จึงทำให้ไทเทเนียมเป็นวัสดุในฝันวัสดุหนึ่งของวิศวกรรมการบินอวกาศ

แต่การได้มาซึ่งโลหะไทเทเนียมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าไทเทเนียมจะเป็นโลหะที่พบได้มากที่สุดในเปลือกโลกเป็นอันดับสี่ของโลก และหาได้ในหินและดินแทบทุกก้อน แต่สินแร่ไทเทเนียมที่มีเยอะเพียงพอจะสามารถนำไปใช้เชิงอุตสาหกรรมได้นั้นก็หาได้ค่อนข้างยาก ปัจจุบันจึงมีประเทศที่มีเหมืองแร่ไทเทเนียมอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ

และสิ่งที่ทำให้ยากขึ้นไปอีกก็คือกระบวนการผลิตและถลุงจากสินแร่ให้กลายมาเป็นโลหะบริสุทธิ์ ที่จะต้องผ่านกระบวนการอันสลับซับซ้อนอาศัยความร้อนสูง ห้องสูญญากาศ แก๊สคลอรีน และเทคโนโลยีที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ในแต่ละปีนั้น แร่ไทเทเนียมที่ขัดได้ทั่วโลกส่วนมากนั้นถูกใช้ไปในรูปของไทเทเนียมออกไซด์ ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีสีขาวบริสุทธิ์ที่ทนทาน ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในสีทาบ้าน ผสมในพลาสติก หรือแม้กระทั่งครีมกันแดด ในขณะที่ไทเทเนียมประมาณ 5% เพียงเท่านั้นที่ถูกนำไปถลุงจนกลายเป็นโลหะ

แต่แม้ว่าเราจะสามารถถลุงไทเทเนียมให้กลายเป็นโลหะแล้ว คุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของไทเทเนียมหลายประการก็ทำให้มันกลายเป็นวัสดุที่สามารถนำไปแปรรูปได้ค่อนข้างยาก ไทเทเนียมที่ถูกหลอมจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่สามารถนำมาหล่อหรือเชื่อมได้ในสภาพบรรยากาศปรกติ นอกไปจากนี้ สว่านหรือเครื่องมือที่จะขึ้นรูปใดๆ จะเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็วด้วยความร้อนสูงที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากคุณสมบัติการนำความร้อนต่ำของมัน

ด้วยสาเหตุนานับประการเหล่านี้ จึงทำให้โลหะไทเทเนียมเป็นวัสดุที่มีต้นทุนแพงที่สุดชนิดหนึ่ง การใช้งานจึงมักจำกัดอยู่ที่อุตสาหกรรมการบินที่มีความต้องการในการทนความร้อน และน้ำหนักที่ลดได้ทุกกรัมนั้นหมายถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่จะลดลงตามมา

ตัวอย่างเช่น ในขั้นตอนแรกของการพัฒนาเครื่องบินสอดแนม Lockheed SR-71 หรือ Blackbird นักวิทยาศาสตร์พบว่า ไทเทเนียมเป็นวัสดุเพียงชนิดเดียวที่จะทนความร้อนของเครื่องบินที่บินด้วยความเร็วมากกว่า 3 เท่าของความเร็วเสียง ทนทานต่อแรงและสภาพอากาศอันสุดขั้วของบรรยากาศในชั้น stratosphere ที่สูงขึ้นไปกว่า 26 กม. และยังคงมีน้ำหนักเบาเพียงพอที่จะทำให้อากาศยานสามารถคงอัตราเร็วอันมหาศาลไว้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ กว่า 90% ของ SR-71 จึงสร้างขึ้นจากไทเทเนียม (ซึ่ง CIA ไปซื้อมาจากสหภาพโซเวียตผ่านทางบริษัทตัวแทน เพื่อนำไปสอดแนมสหภาพโซเวียต) และตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา SR-71 ก็ยังคงเป็นอากาศยานที่มีคนขับ ที่บินได้เร็วที่สุดในชั้นบรรยากาศของโลก ด้วยสถิติที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเลยมาตั้งแต่ปี .. 1976

ทุกวันนี้ ไทเทเนียมเริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้งานที่ต้องการความทนทานต่อการกัดกร่อน และมีน้ำหนักเบา ตั้งแต่หัวไม้กอล์ฟ การทำทันตกรรม กรอบแว่นตา สายนาฬิกา เครื่องประดับ และล่าสุดแม้กระทั่งในโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ ไทเทเนียมยังเป็นวัตถุที่ร่างกายมนุษย์ไม่เกิดการต่อต้าน จึงมักจะนำไปใช้เป็นอวัยวะเทียม หรือข้อต่อเทียม

ในยุคที่อุตสาหกรรมอวกาศกำลังเติบโตนี้ แน่นอนว่าไทเทเนียมย่อมที่จะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการพัฒนายานสำรวจหรือดาวเทียมที่มีน้ำหนักที่เบา ขีดจำกัดทั้งทางด้านต้นทุนและเชิงกลหลายๆประการในขั้นตอนการขึ้นรูปของไทเทเนียมกำลังถูกพัฒนาขึ้น เช่น การพัฒนา 3D printer ที่สามารถสร้างโครงสร้างไทเทเนียมในรูปแบบใดก็ได้ ซึ่งนวัตกรรมการแปรรูปไทเทเนียมเหล่านี้เอง ย่อมหมายถึงดาวเทียมที่ทนทานมากขึ้น มีน้ำหนักที่เบากว่า และสามารถแบกบรรทุกอุปกรณ์ขึ้นไปพร้อมกับภารกิจได้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบรับกับยุคใหม่ของอุตสาหกรรมการบินที่จะถึงนี้

ข้อมูล Facebook : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ผู้เขียน
ทีม iJournalist