เศรษฐกิจ

ส่องสถานการณ์ตลาดค้าปลีก ในกทม.

10 ตุลาคม 2566

บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย เผยสถานการณ์ด้านอสังหาฯ ค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร ณ กลางปี พ.ศ. 2566 ฟื้นตัวได้ดี ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2566 อยู่ที่ 12.9 ล้านคน คาดการณ์ว่าสิ้นปีจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 28.5 ล้านคน หรือประมาณ 71% ของปี พ.ศ.2562 ช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด

จากเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม พ.ศ.2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ชาวมาเลเซีย 2.10 ล้านคน 2.ชาวจีน 1.44 ล้านคน 3.ชาวรัสเซีย 7.91 แสนคน 4.ชาวเกาหลีใต้ 7.63 แสนคน และชาวอินเดีย 7.61 แสนคน

ภาพรวมของตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯในปี 2566 อยู่ในแนวโน้มเชิงบวก โดยมีการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก

การปรับตัวของศูนย์การค้า ณ ไตรมาสแรกปี พ.ศ.2566 ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ยกเลิกส่วนลดราคาค่าเช่า หรือเหลือการให้ส่วนลดประมาณ 0-4% ภายหลัง Traffic ผู้ใช้บริการกลับมา 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อน โควิด-19

ศูนย์การค้าโดยรวมมีรายได้ฟื้นตัวอยู่ในระดับ 50%-60% ของช่วงก่อนโควิด มีการจัดงานเฉลิมฉลองในทุกเทศกาล, เริ่มมีการพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่โดยเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้าหลายเห่งเร่งผลักดัน Application ของตนเองและกระตุ้นยอดขายผ่านโปรโมชั่น และ Gamify ด้วยรางวัลที่เป็น Coin ต่างๆ ทำให้อุปสงค์ฟื้นตัว ผู้เช่ากลับมาทำสัญญาเช่าเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารประเภทชาบู หมูกระทะ และกลุ่มเสริมความงาม สุขภาพ Wellness

อสังหาฯ ค้าปลีก ในบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ กลางปี พ.ศ.2566 มีจำนวนอุปทานประมาณ 7.6 ล้าน ตารางเมตร การเปิดโครงการใหม่ยังไม่มากนักเนื่องจากเป็นช่วงฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวรวมถึงโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ส่วนมากอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการวัน แบงก์ค็อก, โครงการแบงก์ค็อก มอลล์, โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค และโครงการดิ เอ็มสเฟียร์ เป็นต้น

ด้านอุปสงค์ธุรกิจศูนย์การค้าอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ศูนย์การค้าเร่งจัดกิจกรรมและทำโปรโมชั่นกันอย่างต่อเนื่องทุกเทศกาล กลุ่มพนักงานออฟฟิศและชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น มาตรการช้อปดีมีคืนและการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเลือกตั้ง กระตุ้นให้เกิดการอุปโภคบริโภคได้ดี

จากการรวบรวมตัวเลขผลประกอบการของผู้ประกอบการศูนย์การค้าชั้นนำของประเทศไทยโดย บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย พบว่ารายได้โดยรวมฟื้นตัวอยู่ในระดับ 87% ของช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ส่วนการทำกำไรโดยรวมนั้นฟื้นตัวอยู่ที่ระดับ 76% สำหรับผลประกอบการ ปี พ.ศ.2566 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับปี พ.ศ.2562