เด็กบางคนอาจมีการมองไม่ชัดเท่าคนทั่วไป หรือมีอาการตาพร่ามัว ซึ่งอาจเป็นอาการของ “โรคตาขี้เกียจ” ภาวะที่ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน และหากไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ พอโตไปอาจรักษาไม่หาย
พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ รพ.วิมุต กล่าวว่า โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คือ ภาวะที่ตาหนึ่งข้างหรือสองข้างมีพัฒนาการมองเห็นภาพชัดไม่เต็มที่ ซึ่งส่วนมากสามารถเกิดได้ในเด็กเล็กอายุ 1 – 7 ปี เป็นต้นไป ทำให้การมองเห็นคมชัดน้อยกว่าปกติ น้อง ๆ ที่มีภาวะตาขี้เกียจจะมีการมองเห็นลดลงกว่าปกติเมื่อเทียบกับคนทั่วไปโดยมีความรุนแรงของโรคหลายระดับ ในกรณีที่เป็นข้างเดียวเพียงเล็กน้อยอาจไม่กระทบรุนแรงนัก แต่ถ้าเป็นมากหรือเป็นทั้ง 2 ตาจะยิ่งทำให้แย่ลง อาจมีผลในกรณีที่ทำกิจกรรมที่ต้องการความคมชัดสูง หรืออาจทำให้ความสามารถในการมองภาพสามมิติลดลง
โรคตาขี้เกียจมักพบบ่อยในเด็กและมีสาเหตุนำโรคอยู่หลายประการ กลุ่มแรกคือเด็ก ๆ ที่มีภาวะตาเหล่ ส่งผลให้ตาสองข้างมองคนละตำแหน่งและทำให้เกิดภาพซ้อน ร่างกายของเด็กจึงมีกลไกในการลดการเกิดภาพซ้อน ด้วยการยับยั้งพัฒนาการของตาข้างที่ไม่ถนัด ต่อมาคือกลุ่มที่มีค่าสายตา โดยพบได้บ่อยในเด็กที่มีค่าสายตาทั้งสองข้างต่างกันมาก ทำให้เกิดการเลือกพัฒนาเฉพาะตาข้างที่ถนัด ส่วนตาที่ไม่ถนัดก็จะไม่ใช้งาน ทำให้พัฒนาความสามารถในการมองเห็นไม่เต็มที่ ในกรณีที่มีค่าสายตามากทั้งสองข้าง ก็อาจมีภาวะตาขี้เกียจพร้อมกันทั้งสองข้างได้
ในอีกกลุ่มที่มีภาวะต้อกระจกแต่กำเนิด เปลือกตาตก กระจกตาขุ่น ซึ่งเป็นอาการผิดปกติที่บดบังหรือรบกวนการมองเห็น จะเป็นกลุ่มที่รักษายากที่สุด นอกจากนี้หากเป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ คลอดก่อนกำหนด หรือคนในครอบครัวเป็นโรคตาขี้เกียจ ก็มีโอกาสมากกว่าคนทั่วไปที่จะเป็นโรคตาขี้เกียจเช่นกัน
โดยปกติภาวะนี้อาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน แต่หากผู้ปกครองหรือตัวเด็กเองสังเกตเห็นความผิดปกติที่กระทบการมองเห็น เช่น ต้อกระจก หนังตาตก ตาเหล่ ซึ่งเป็นอาการชัดเจนที่ก่อเกิดโรค ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาได้ทันที ส่วนในกรณีที่เป็นตาขี้เกียจจากการมีค่าสายตา อาจต้องพิจารณาความสามารถในการมองเห็นเพิ่มเติม ซึ่งตรวจสอบด้วยตัวเองได้ยาก ควรตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์โดยตรง
การตรวจตาในเด็กจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เบื้องต้นจะตรวจการมองเห็น การกลอกตาและการใช้กล้ามเนื้อตา ค่าสายตา ตรวจขยายของม่านตา ตรวจวัดแว่นโดยการหยอดยาคลายการเพ่ง เป็นต้น จากนั้นเมื่อรู้ถึงต้นเหตุก็จะรักษาตามอาการ อาจใช้การผ่าตัด การตัดแว่น จ่ายยาหยอดตา หรือปิดตาข้างดีเพื่อให้ตาข้างที่มีปัญหามีพัฒนาการ ก็จะช่วยให้โรคตาขี้เกียจบรรเทาหรือหายสนิทได้
“เนื่องจากตาขี้เกียจมีความรุนแรงหลายระดับ มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และใช้เวลาในการรักษาแตกต่างกัน การตอบสนองต่อการรักษาจึงแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรเอาใจใส่และหมั่นสังเกตการมองเห็นของเจ้าตัวเล็กอยู่เสมอ เพราะหากเจออาการผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้รับการรักษาได้เร็ว เพิ่มโอกาสหายหรือกลับมามองเห็นใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น เด็ก ๆ จะได้โตมาเห็นโลกชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น” พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวทิ้งท้าย
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้