ข่าวทั่วไป

ค.ฅน ทำงานสร้างโอกาสทางอาชีพให้ ค.ฅน กลับใจ

15 เมษายน 2567

ค.ฅน ทำงานสร้างโอกาสทางอาชีพให้ ค.ฅน กลับใจ

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ใน ณ จังหวัดบึงกาฬ และอุดรธานี  จัดขึ้นก่อนวันหยุดสงกรานต์ ทำให้เห็นโมเดลต้นแบบการทำงานกับคนทุกประเภทและทุกช่วงวัย ตามภารกิจหลักของ กสศ.

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่บึงกาฬ ว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดบึงกาฬ  คัดกรองเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและต้องการความช่วยเหลือ พบว่ามีอยู่กว่า 4,700 คน ซึ่ง กสศ.  จะดึงความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันแก้ปัญหานี้

เรื่องเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. มองว่า หากเราสามารถพัฒนาผู้ร่วมเรียนรู้ให้เป็นนักการเรียนรู้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้ ก็จะทำให้เกิดการขยายโอกาสในชีวิตของเขามากยิ่งขึ้น

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. กล่าวว่า เรากำลังทำเรื่องเล็ก ๆ ให้เกิดความยิ่งใหญ่ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ทั้งรุนแรง ทำให้คนต้องจำใจพลัดถิ่น หรือเดินหันหลังให้สังคมแล้วก้าวเข้าสู่หนทางที่มืดมน  เรามองว่า ทุกคนมีศักยภาพ สามารถพัฒนาได้  หากในพื้นที่มีคนทำงานจริงจัง ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสร้างรากฐานให้คนและชุมชนเกิดความเข้มแข็ง รวมถึงเกิดพลังกลุ่มใหญ่ในการขับเคลื่อนงานนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ จนถึงระดับประเทศได้

ค.ฅน กลับใจ

การเข้าไปทำงานกับกลุ่มผู้ต้องโทษนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ก็ทำให้ ปิ่นมนัส โคตรชา  หรือกุ้ง  ซึ่งทำหน้าที่วิทยากรให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ มองเห็นโอกาสที่จะส่งต่ออาชีพแบบครบวงจรให้กับกลุ่มผู้ต้องโทษในเรือนจำ

ผ่านโครงการพิเศษและบริการชุมชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  (กสศ.)

อัตลักษณ์อยากเป็นองค์กรนางฟ้า

ปิ่นมนัส โคตรชา หรือน้องกุ้ง จากบริษัทอัตลักษณ์ จำกัด  ร่วมงานกับ กสศ.มาตั้งแต่ปี 2563 ในโครงการเสริมสร้างทักษะอาชีพ สำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว จังหวัดหนองบัวลำภู  ทำงานร่วมกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดอุดรธานี

ปี 2566 บริษัทอัตลักษณ์ จำกัด ได้เข้าไปทำงานในเรือนจำกลางอุดรธานี

กุ้ง บอกว่า การทำงานกับ กสศ.มีรูปแบบและวิธีการทำงานที่ชัดเจน สามารถนำเอาเครื่องมือ วิธีการต่างๆ มาสร้างการเรียนรู้กับกิจกรรมที่ต้องการจัดได้ทันที

“ทำงานจิตอาสา งานกิจกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ เรียนจบก็เป็นวิทยากรสอนอาชีพ ระหว่างเป็นวิทยากร ทำให้มองเห็นว่า ผู้เรียนไม่รู้เลยว่าปลายทางอาชีพจะไปอย่างไร จับต้นชนปลายไม่ได้  อยากมีองค์กรที่ทำเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  สุดท้ายจึงลงมือทำเอง ”

กุ้งระดมเพื่อนๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีทรัพยากรแตกต่างกัน มาทำวิสาหกิจเพื่อสังคม   รวมตัวกันทำงานเพื่อสังคม  จุดเด่นคือ เป็นกลุ่มเพื่อน  LGBTQ มารวมตัวกันทำงาน แต่ก็มีเพื่อนผู้หญิงและผู้ชายมาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

 

สิ่งเล็กๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

กุ้ง เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคนมีเท่าเทียมกัน สามารถส่งต่อคุณค่าของตัวเองให้ผู้อื่นได้ อย่างน้อยก็เริ่มจากครอบครัว  ชุมชน ช่วยกันในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมน่าอยู่ได้

”อัตลักษณ์ เป็นเหมือนแก๊งนางฟ้า เราจะทำเฉพาะโครงการที่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่กำหนดกรอบมากเกินไป จนทำให้เราทำงานได้ไม่ตรงเป้า  เราอยากส่งต่อความช่วยเหลือกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส “

ความมหัศจรรย์เกิดขึ้น เมื่อ LGBTQ ทำงานในเรือนจำ

ต้องบอกว่า เป็นความมหัศจรรย์จริงๆ ใคร ๆ ก็รู้ว่า พื้นที่เรือนจำนั้นทำงานยาก วิทยากรชายและหญิง อาจจะไม่คล่องตัวนัก แต่สำหรับทีมงานอัตลักษณ์ นำโดยกุ้ง ได้รับการยอมรับในพื้นที่อุดรธานีและใกล้เคียง  สามารถเข้าไปประสานได้ดีในเรือนจำ ทั้งในส่วนของผู้ต้องโทษชายและหญิง

ทีมอัตลักษณ์ ใช้เทคนิคเป็นเหมือนเพื่อน  กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กล้าเข้ามาเปิดใจกัน

ปัจจุบันอัตลักษณ์ทำงานพัฒนาอาชีพให้กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว  ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ต้องโทษในเรือนจำ  ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับนำไปสู่การมีอาชีพแบบครบวงจร

ลงมือครั้งแรก ใช้เงินนำกระบวนการ

กุ้ง ยอมรับว่า ที่ต้องใช้เงินนำ  เพราะหากให้กลุ่มเป้าหมายมาทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่รู้ผลลัพธ์ปลายทางนั้นน่าเบื่อ   จึงต้องกระตุ้นให้เห็นภาพว่า อาชีพที่กำลังเรียนรู้ เมื่อลงทุนแล้ว จะต่อยอด สร้างผลกำไรนำไปสู่รายได้ปลายทางได้อย่างไร

การสอนอาชีพ ค.ฅนกลับใจ  เริ่มจากตั้งเงื่อนไขร่วมกัน  ช่วยกันออกแบบหลักสูตร   ทำให้มองเห็นความสำคัญของการอาชีพหลังพ้นโทษ  เช่น การนวด จากที่ไม่มีใครสนใจ แต่เมื่อรู้ว่า ไม่ต้องลงทุนมาก แค่ใช้สองมือ และน้ำมัน ก็ได้เงินชั่วโมงละ 150 บาท ก็ได้รับความสนใจทันที

วิสาหกิจส่งเสริมคนดีสู่สังคมไม่จำกัด

ล่าสุด อัตลักษณ์ ได้เปิดตัววิสาหกิจส่งเสริมคนดีสู่สังคมไม่จำกัด  เพื่อให้ผู้ต้องโทษ ได้เข้ามาร่วมงานในวิสาหกิจฯ  หวังให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ มีอาชีพ มีที่ยืนในสังคม

แปรรูปอาหารกับราชภัฏอุดรธานี

อีกโครงการที่ทำในพื้นที่เดียวกัน ได้รับทุนจาก กสศ. เหมือนกัน  ก็คือ โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง เรือนจำกลางอุดรธานี

ทีมราชภัฏอุดรธานี  เริ่มต้นด้วยใช้กิจกรรมเปิดใจ  แล้วหาทางปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นว่า ตัวเองทำได้  ก่อนจะนำไปสู่การฝึกอาชีพแปรรูปอาหาร หลากหลายเมนู  และการบริการ  ในอนาคตเรือนจำกลางอุดรธานี จะนำหลักสูตรการสร้างอาชีพเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้ผู้ต้องโทษชาย ในร้านคาเฟ่และคาร์แคร์ของเรือนจำ ซึ่งจะให้ผู้ต้องโทษชั้นดี ได้ฝึกทำงานก่อนพ้นโทษ

เมนูมื้อกลางวัน ณ เรือนจำชั่วคราวโคกก่องในวันนั้น  จึงได้เห็นวิธีการจัดโต๊ะอาหาร การเสิร์ฟ และบริการต่างๆ ด้วยรอยยิ้มสดชื่น ได้เห็นการทำขนมปั้นสิบ อย่างใจเย็น

การลงพื้นที่บึงกาฬ อุดรธานี แม้อากาศจะร้อนจัด ตัวแทบละลาย  สิ่งที่เห็นเป็นการตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เราไม่ควรด้อยค่าตัวเองและผู้อื่น เมื่อมีโอกาสก็อย่าใช้เปลือง ควรรีบฉกฉวยใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • ค.ฅนกลับใจ
  • ดร.สมคิด แก้วทิพย์
  • นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อส...
  • ปิ่นมนัส โคตรชา
  • ผู้ต้องโทษ
  • พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศ...
  • มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี
  • สร้างอาชีพ