เทคโนโลยี

“ไทยวาโมเดล”วิทยาศาสตร์เปลี่ยนความเชื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรกรไร่มัน

24 สิงหาคม 2567

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปแทนที่ความเชื่อในการทำเกษตรที่ถ่ายทอดความรู้ส่งต่อกันมา

แต่เพราะความเชื่อแบบใช้ความรู้สึกที่เคยส่งต่อกันมา ไม่เหมาะกับโลกยุคปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมและผู้คนเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่รูปแบบ “ไทยวาโมเดล”

โรคใบด่างศัตรูสำคัญของมันสำปะหลัง

มันสำปะหลังพืชเศรษฐกิจของประเทศ  ผลิตได้ทั้งอาหาร พลังงานชีวภาพ และไบโอพลาสติก  เป็นหนึ่งในพืชที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เกิดฝนทิ้งช่วงส่งผลให้มันสำปะหลังขาดน้ำ อีกทั้งการแพร่ระบาดของโรคใบด่าง ทำให้ชาวไร่มันขาดแคลนต้นพันธุ์ปลอดโรคสำหรับเพาะปลูก

ส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังของไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลกมาตลอด มูลค่าการส่งออกมากถึงปีละ93,000 ล้านบาท

ไทยวาโมเดล นวัตกรรมองค์ความรู้ส่งให้เกษตรกร 

หทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ไทยวา เข้าใจถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านเกษตรกรรมไทยไปสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้เติบโตได้ในระยะยาว

“ไทยวาโมเดล” คือ การบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลัก  สามารถเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูกอาหาร  ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เน้นพัฒนาเกษตรกร ให้ได้ผลผลิตและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น“

หัวใจหลักของไทยวาโมเดล

พรศักดิ์ เอี่ยมนาคะ ผู้ช่วยผู้จัดการพัฒนาฟาร์มและนวัตกรรม บริษัทไทยวา จำกัด (มหาชน)  ได้อธิบายถึงรูปแบบ ไทยวาโมเดล  ซึ่งเน้นที่การจัดการดิน  พื้นฐานสำคัญของการเพาะปลูก  ผนวกกับการส่งเสริมการทำเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้โมเดลนี้มีเสาหลักใน 3 ด้าน

1.การดูแลดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ  :   ไทยวาคิดค้นปุ๋ยชีวภาพ TW8 ขึ้น เพื่อบำรุงและฟื้นฟูดิน ประกอบด้วยจุลินทรีย์ถึง 8 ชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยอินทรีย์วัตถุให้กลายเป็นสารอาหาร ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศลงสู่ดิน และช่วยสร้างสารอาหารที่จำเป็น เช่น ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพ TW8 ได้เองโดยใช้ของเหลือทิ้งจากการเกษตรได้อย่างหลากหลาย เช่น ใบมันสำปะหลัง จึงทำได้ง่าย ช่วยลดต้นทุน แต่ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืช


2.นวัตกรรมพลาสติกคลุมดินที่ย่อยสลายได้ :  พลาสติกคลุมดิน ROSECO ทำจากแป้งมันสำปะหลังเป็นรายแรกของไทย  สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ  ช่วยลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช  ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดินเมื่อฝนทิ้งช่วง  ช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้    เมื่อสิ้นฤดูกาลเพาะปลูกยังสามารถไถกลบฟิล์มชีวภาพ ROSECO หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะย่อยสลายและกลายเป็นปุ๋ยในดินที่มีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์  ถึงแม้ว่าราคาของพลาสติกคลุมดินย่อยสลายได้ จะมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณ 1.5 เท่า แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มจะมีราคาลดลงได้

3. ธนาคารท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค :   ไทยวาร่วมมือกับสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย หรือ TTDI   สามารถเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังได้อย่างรวดเร็ว  เพาะท่อนพันธุ์ในเรือนกระจก  จากเดิมที่เพาะได้ครั้งละ 4-5 ท่อน เป็น 20 ท่อน  ปัจจุบันไทยวามีโรงเรือนในประเทศไทยทั้งหมด 12 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง กาฬสินธุ์ และ ตาก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของบริษัท จึงสามารถจัดหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพสูงให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้ต่อเนื่อง

 ต่อด้วย โมเดล BCG  สู่ความยั่งยืน

ไทยวาได้นำกากมันสำปะหลังมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ชื่อแบรนด์  Thai Win (ไทยวิน)  เป็นแนวคิดนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพในราคาที่ย่อมเยาให้กับเกษตรกร

 

ประไพ ภูลายยาว เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกระบือสวยงามในอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี  บอกว่า ใช้อาหารสัตว์ของไทยวาที่ผลิตจากกากมันสำปะหลัง เพราะชอบแนวคิดเรื่องการหมุนเวียนนำของเหลือทิ้งกลับมาสร้างคุณค่า นอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ลงถึง 40% จากเดิมอยู่ที่ 350 บาทต่อตัวต่อวัน ลดลงเหลือเพียง 210 บาทต่อตัวต่อวันเท่านั้น เท่ากับเราได้ผลดีถึง 3 ต่อ คือ อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ลดค่าใช้จ่าย และช่วยดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม

 ต่อยอดขยายผลไทยวาโมเดลสู่ภูมิภาคอาเซียน

ไทยวา มีโอกาสนำเสนอ “ไทยวาโมเดล” ต่ออาเซียนและเวิลด์อีโคโนมิคฟอรัม  ซึ่งได้รับความสนใจนำรูปแบบไทยวาโมเดลไปเผยแพร่ให้สมาชิก

นอกจากนี้ ไทยวาได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) หรือการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. โดยขึ้นทะเบียนเพื่อคำนวณค่าคาร์บอนเครดิตและประเมินความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน

ภายใต้ความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ไทยวามีโครงการส่งเสริมให้เกษตรในเครือข่ายไร่มันสำปะหลังของไทยวาที่มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 10,000 ไร่ในจังหวัดอุดรธานีและระยอง นำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูกลดลง

 

เสียงสะท้อนจากกลุ่มเกษตรกรโนนสะอาด อุดรธานี

ศิริเทพ ศิริวรรณ์หอม  หรือพี่หวย เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ตัวแทนของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มันสำปะหลัง   อ.โนนสะอาด อุดรธานี  เล่าว่า หลังจากทางกลุ่มลองทำตามไทยวาโมเดล  เริ่มจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยหมักร่วมกับจุลินทรีย์ TW8 ที่ทำได้เองจึงลดรายจ่ายจากปุ๋ยและลดใช้สารเคมี ผลที่เห็นได้ชัดคือผลผลิตเพิ่มขึ้น 50% จากเดิมเฉลี่ยได้ 4 ตัน เพิ่มเป็น 6 ตันต่อไร่  ปีนี้บางแปลงได้ถึง 8 ตันต่อไร่   

“ไทยวาเป็นพี่เลี้ยงที่ดี มีความเชี่ยวชาญเรื่องมันสำปะหลังมาแบ่งปันให้เกษตรกร จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ ก็มารวมกลุ่ม  ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นไม่ใช้ความเชื่อ   เราไม่สามารถเพิ่มที่ดินเพาะปลูกได้ เพราะมีอยู่แค่นี้ แต่สามารถเพิ่มผลผลิตได้  ในอนาคตทางกลุ่มจะถ่ายทอดความรู้ที่ได้ไปยังเครือข่ายฯ”  พี่หวย กล่าว

แม้วันนี้ราคามันจะลงมาอยู่ที่ 1.80 บาท บางช่วงก็ขึ้นไปมากกว่า  4 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนของชาวไร่มันอยู่ กิโลกรัมละ 1.62 บาท แต่การรวมกลุ่ม การนำองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มคุณภาพผลผลิต ทำให้วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มันสำปะหลัง เกิดพลังพูดคุยกับลานมัน  สร้างเครือข่ายส่งต่อองค์ความรู้  เป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่นำ“เกษตร”มาตก“ตะกอน”ทางความคิดได้สำเร็จ

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในไทยมนกว่า   78 ปี   ธุรกิจของบริษัทฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แบรนด์ “ROSE” ธุรกิจอาหารจากแป้งประเภทวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ “มังกรคู่ หงษ์ และกิเลนคู่” และธุรกิจผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพภายใต้แบรนด์ “ROSECO” ซึ่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ROSECO เป็นผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ผลิตจากแป้งมันสำปะหลังรายแรกของโลก ที่จะมีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกและปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกได้ ข้อมูลhttps://www.thaiwah.com

 

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • THAIWAH
  • มันสำปะหลัง
  • วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มันสำปะหลัง อ.โนนสะอาด อุดรธานี
  • หทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์...
  • เกษตรกรไร่มัน
  • ไทยวา
  • ไทยวาโมเดล