เทคโนโลยี

งานวิจัยต้องใช้ง่ายไม่แพงไม่เปลืองค่าดูแลตรงกับความต้องการชุมชน

23 กุมภาพันธ์ 2568

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการ“ขยายผลวิจัยเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน” ได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน

ไปต่อยอดขยายผลใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก

สร้างนวัตกรชุมชนจากฐานงานวิจัย

ภายหลังลงพื้นที่ ติดตามการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมชุมชน และพัฒนาขีดความสามารถใหม่ของผู้ประกอบการด้านการเกษตรและประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง จังหวัดตรัง

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว.  ระบุว่า การนำนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาถ่ายทอดความรู้ให้กับครัวเรือนเกษตรกร ครัวเรือนชนบท จะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการผลิต สร้างรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมในการสร้างประโยชน์ให้สังคมหรือชุมชน

สร้างเกษตรกรชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ยอมรับ ปรับเปลี่ยนการใช้ความรู้เทคโนโลยีในการประกอบอาชีพจนเป็น นวัตกรชุมชน จากฐานงานวิจัย และสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับไปยังเกษตรกรและผู้สนใจให้สามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

นวัตกรรมจากงานวิจัยต้องไม่แพง ดูแลง่าย ตรงกับความต้องการของชุมชน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า การขยายผลการทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏไปสู่การทำงานกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อนำงานวิจัยเข้ามาพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่มีศักยภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

ภายใต้แนวคิด 4 จุดคานงัด ประกอบด้วย

1. การเข้าถึงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน

2.การเข้าถึงตลาดและการแข่งขัน

3. การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม

4. การเรียนรู้ของชุมชนและนักวิจัยที่ต้องปรับกระบวนทัศน์

เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวคิดของ 4 จุดคานงัด จะนำไปสู่การผลิต “นวัตกรชุมชน” ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้นวัตกรรมเข้ามาหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ภายใต้บริบทของชุมชนยึดแนวคิดที่ว่านวัตกรรมนั้นตอบโจทย์พื้นที่ ชาวบ้านสามารถใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง และบำรุงรักษาได้เอง ซึ่งการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยและปราชญ์ชุมชน ทำให้เกิด Learning Outcome ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลลัพธ์การทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ ที่มีประสิทธิภาพและเกิดนวัตกรชุมชนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการบ่มเพาะและเสริมสร้างศักยภาพ ไม่เพียงจะช่วยให้ชุมชนเติบโต แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ดร.กิตติ ยังระบุว่า โจทย์การขับเคลื่อนงานของหน่วย บพท. คือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยมีเป้าหมายปลายทาง คือ การทำให้ครัวเรือนที่เป็นหน่วยผลิตที่เล็กที่สุด สามารถเข้าถึงระบบเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างยั่งยืน

ผลลัพธ์จากการทำงานของ มทร.ศรีวิชัย-บพท.

สำหรับ มทร.ศรีวิชัย มีการทำงานร่วมกับหน่วย บพท. มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้แผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แผนงาน Local Enterprise และการขยาย Appropriate Technology ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ พัทลุง สตูล และปัตตานี

มุ่งเน้นใน 4 มิติหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยว การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอันดามันเมืองอัจฉริย

มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเติบโตของชุมชน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการ ชุมชนระดับตำบล จนถึงระดับเมือง สามารถขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และยกระดับขีดความสามารถของชุมชนและผู้ประกอบการ เกิดชุมชนนวัตกรรมได้มากถึง 30 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 20 ตำบล ของ 7 อำเภอในจังหวัดตรัง

 เกิดการสร้างนวัตกรชุมชน ที่เป็นผู้รับ ปรับใช้ และขยายผลงานวิจัยได้มากกว่า 2,000 ครัวเรือน และสามารถสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม

นำนวัตกรรมพร้อมใช้ไปช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชน ได้มากกว่า 50 นวัตกรรม รวมทั้งช่วยยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ซึ่งอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาขยายตัวของเศรษฐกิจเท่านั้นแต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในมิติต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืน

ผู้เขียน
ทีม iJournalist

Share
Related
More read
  • เทคโนโลยี
  • 20 กุมภาพันธ์ 2568

มาแล้ว iPhone 16e สมาชิกใหม่ตระกูล iPhone 16

  • ยานยนต์
  • 19 กุมภาพันธ์ 2568

ครั้งแรกของ BYD REVER Social Club - Defining Moment

Tags

  • งานวิจัย
  • นวัตกรชุมชน
  • บพท.
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)
  • หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
  • เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่