สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) เปรียบเหมือน “เสียงของภาคธุรกิจ” เป็นเหมือนที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจในการดำเนินงานด้านการค้าและการลงทุน ประกอบด้วยสมาชิก 63 ราย ที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 คนต่อเขตเศรษฐกิจ จากสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ
ABAC ถูกจัดตั้งโดยเอเปคตั้งแต่ปี 2538 เพื่อเป็นเวทีการหารือของภาคธุรกิจเอเปคในระดับพหุภาคี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อประเด็นด้านการค้าและการลงทุนที่จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเอเปคโดยรวม และในการประชุมปีนี้ ABAC มีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีของแต่ละเขตเศรษฐกิจ (ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค)ทั้งหมด 69 ข้อ โดยได้ให้ความสำคัญกับ 5 หัวข้อหลักๆ ประกอบไปด้วย
1.ด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration) ที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกการเปิดการค้าเสรี (FTA) โดยการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) การส่งเสริมประสิทธิภาพการค้าการลงทุนด้านการบริการ และมาตรการการเดินทางและข้อปฎิบัติด้านสาธารณสุขที่สอดคล้องกันในภูมิภาค เพื่อให้การเปิดการเดินทางข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัย
2.ด้านดิจิทัล (Digital) มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ผ่านการนำข้อมูลประจำตัวดิจิทัลที่เชื่อถือได้มาใช้ในการทำงานร่วมกัน และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย (Cybersecurity and Cross Border Data Flow)
3.ด้าน MSMEs และการมีส่วนร่วม (MSMEs & Inclusiveness) ที่ต้องการฟื้นฟู พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 และส่งเสริมการมีบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิง เยาวชนและกลุ่มที่ยังไม่ได้รับโอกาส โดยเน้นการเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs และด้วย MSMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงเห็นควรในการพัฒนามาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก โดยมาตรการดังกล่าว หมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล
4.ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ที่มุ่งเน้นการนำสังคมไปสู่ Net Zero ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในอนาคต
5.ด้านเศรษฐกิจและการเงิน (Finance and Economics) ที่ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและยั่งยืนโดยให้ความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือ การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ (APEC Business Advisory Council: ABAC) ไขข้อข้องใจ คนไทยจะได้รับประโยชน์อะไร จากการยื่นข้อเสนอแนะดังกล่าว
ตัวอย่างที่ผลประโยชน์คนไทยจะได้รับ ได้แก่ โอกาสในการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการรวมกลุ่มของเศรษฐกิจที่มีขนาดตลาดใหญ่ขึ้น และมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจ MSMEs จะได้รับการรองรับโอกาสของการลงทุนจากต่างประเทศที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับทักษะแรงงานในพื้นที่ต่อไป และด้านความยั่งยืน ประเด็นเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และ Future Food อาหารแห่งอนาคต ก็อาจเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของประชาชน
ผลลัพธ์ของการประชุมเอเปค จะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังโควิด-19 ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ อันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ท้ายที่สุดนี้ การประชุม ABAC/APEC ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดี ในการแสดงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่าราว 19 ล้านล้านบาท) โดยที่ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการเติบโตไม่ว่าจะเป็นการส่งออกกว่า 70% ของ GDP การมีภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งราว 40% ของ GDP และภาคบริการราว 50% ของ GDP โดยจุดแข็งของไทย คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทางการเงิน และด้านอาหาร ที่ประเทศไทยมีจุดเด่นด้านความมั่นคงของอาหารในเวทีโลกอีกด้วย
ลงทุนเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ รับดีมานด์ต่างชาติยุค "รีโอเพนนิ่ง"