กระทรวง พม.หยิบหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เพิ่มทักษะบุคลากรและผู้สูงอายุ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงนามความร่วมมือกับ AIS และภาคีเครือข่ายส่งต่อ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ให้บุคลากรของ พม. และผู้สูงอายุ ยกระดับคนไทยรู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ AIS ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้บุคลากรของกระทรวง พม. กว่า 11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล และขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัย อาทิ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์
คาถากันภัยไซเบอร์ของ รมต.ท็อป
“เงินกว่าสองสามหมื่นล้านในแต่ละปี ของผู้สูงวัย บางครั้งหายไปในชั่วพริบตา ทุกวันนี้เบอร์แปลกโทรมาผมไม่เคยรับ แต่เมื่อวานเจอแจ็คพ็อต ท่านนายกฯ โทรมาผมไม่รับสาย สำหรับผม อะไรที่เสียตังค์วางหู ไม่เสียตังค์แน่นอน จะขายของ ส่งพัสดุ ยืมตังค์ จะเป็นญาติหรือใครก็ตาม ถ้าต้องเสียตังค์วางหูก่อน จำไว้ว่า
ของดีไม่ใช่ถูก ของถูกไม่ค่อยมี ของฟรีไม่มีในโลก”
เอไอเอสมุ่งสร้างสังคมดิจิทัลที่ดีและมีประโยชน์
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า เอไอเอสให้ความสำคัญการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีและมีประโยชน์ต่อคนไทยทุกเพศทุกวัย การทำงานจะแบ่ง 2 ส่วน คือ 1. นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างการใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัย ดูการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูก แต่พบว่า ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ปกครอง
และ 2 .สร้างทักษะดิจิทัลให้คน ผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เป็นหลักสูตรที่นำมาพัฒนาใหม่ให้เหมาะสมกับคนไทย
ที่ผ่านมาเอไอเอส ได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย
Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีผู้ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้กว่า 320,000 คน
ความร่วมมือครั้งสำคัญกับภาครัฐ
ความร่วมมือครั้งสำคัญกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัล เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศ กว่า 2,500 แห่ง ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดยการทำงานร่วมกันครั้งนี้ได้ปรับเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สอดคล้องกับทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเป็นพลเมืองดิจิทัลสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้มีความเหมาะสม เช่น การเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กร เป็นต้น
ความร่วมมือกับโรงเรียน กทม.
ก่อนหน้านี้ AIS อุ่นใจ CYBER และ กรุงเทพมหานคร ได้ทำงานร่วมกันผ่านการนำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง
ผ่านกิจกรรม “กทม. x AIS อุ่นใจ CYBER School Tour วัยรุ่นตัว TOP STOP ภัยไซเบอร์” ด้วยแนวคิด Gamification หรือ โลกแห่งการเรียนรู้ผ่านเกม นำร่องใน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนนาหลวง, โรงเรียนวัดยายร่ม (วัฒนราษฎร์รังสรรค์), โรงเรียนประชาอุทิศ(จันทาบอนุสรณ์) และ โรงเรียนบ้านบางกะปิ
ตั้งเป้าเป็น โรงเรียนอุ่นใจไซเบอร์ พร้อมขยายผลการสร้างพลเมืองดิจิทัล ยกระดับการใช้งานสื่อและโลกออนไลน์ให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม.กว่า 250,000 คน เข้าศึกษาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์และได้รับประกาศนียบัตรทุกโรงเรียนรวม 437 แห่ง ภายในปีการศึกษา 2567
โดยเอไอเอส และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จัดรูปแบบการส่งเสริมที่เหมาะสมโดยบูรณาการการเรียนรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดของการเรียนการสอนที่สนับสนุนทักษะวิทยาการคำนวณ และการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) แก่โรงเรียนในสังกัด กทม.
ดัชนีชี้วัดภาวะสุขภาพดิจิทัลของคนไทย
ผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) จัดทำโดย AIS และ มจธ. พบว่าในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 10-15 ปี ในพื้นที่ กรุงเทพฯ กว่า 82.97% อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์
อีก 81.49% ขาดทักษะด้านการจัดสรรเวลาในการใช้งานบนโลกออนไลน์
75.15% ขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตัวเองจากภัยในโลกไซเบอร์
หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index
เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ www. learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER, www.m-society.go.th, www.dop.go.th และแอปพลิเคชัน Gold by DOP
บรรณาธิการเทคโนโลยี
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้