ตำรวจไซเบอร์ บอกว่า หลอกให้รัก หลอกให้กลัว หลอกให้ซื้อ หลอกให้โหลดแอป หลอกให้กู้ ทั้ง 5 หลอก เป็นภัยออนไลน์ใกล้ตัวแห่งปี 2565
แล้วจะรับมืออย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกหลอก คำตอบก็คือ มีความรู้ก็อยู่รอด
ที่ผ่านมา AIS มีหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเกิดจากทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต และตำรวจไซเบอร์
ก่อนที่ AIS จะปล่อยตัวแคมเปญและหนังโฆษณาชุดใหม่แนวคิด มีความรู้ก็อยู่รอด ใช้วิธีเล่าเรื่องจากคนตาย เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพออนไลน์ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน สิ่งเดียวที่จะทำให้เอาชนะอิจฉาชีพที่มาทางออนไลน์ได้ ก็คือ “ความรู้”
AIS ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาบอกเล่าถึงปัญหาและวิธีการสร้างภูมิคุ้มกัน
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เรียกสั้นๆ ก็คือ หน่วยตำรวจไซเบอร์ เล่าให้ฟังว่า แนวโน้มสถิติของภัยบนโลกออนไลน์สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันรับแจ้งถึงวันละไม่ต่ำกว่าสองหมื่นเรื่อง มูลค่าความเสียหายมากกว่าสองหมื่นล้านบาท
สำหรับ 5 อันดับกลโกงภัยออนไลน์ใกล้ตัวแห่งปี 2565 ที่ตำรวจไซเบอร์รวบรวมและเตือนประชาชนอยู่เสมอ ก็คือ
1.หลอกขายของออนไลน์ ได้ของไม่ตรงปก
วิธีรับมือ ให้ทำดังนี้ เลือกซื้อจากเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ ก่อนโอนเงินทุกกรณี ให้ระบุตัวตนปลายทาง ขอเบอร์โทรศัพท์แล้วโทรไปคุย และบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน
2.หลอกให้กลัวแล้วโอนเงินเพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์
ในกรณีนี้ให้ตัดสายเรียกเข้าที่เป็นเสียงบันทึกเทปทุกกรณี หากมีโทรศัพท์มาแล้วอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ให้ขอชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เพื่อติดต่อกลับเอง และห้ามเราติดต่อพูดคุยผ่านไลน์เด็ดขาด
3.หลอกให้ทำงาน/กู้เงิน
คำแนะนำ ก็คือ อย่าหลงเชื่อ จะโดนหลอกให้โอนเงิน โดยได้รับผลประโยชน์จริงในช่วงแรกเท่านั้น บริษัทของจริงจะต้องสามารถโทรเข้าไปสอบถามได้
4. หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน/ขโมยรหัสผ่าน
วิธีรับมือ ต้องติดตั้งแอปจาก Google play และ App Store เท่านั้น ห้ามกดลิงค์ที่ส่งมาจากผู้ที่เพิ่งรู้จักกันผ่านโลกออนไลน์ ให้ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ต้องมั่นใจว่าถูกต้อง
5.หลอกให้รักแล้วลงทุน
ห้ามลงทุนตามคำชักชวนของผู้ที่รู้จักผ่านทางออนไลน์ คนร้ายมักปลอมโปรไฟล์แอบอ้างใช้ภาพของคนดัง และคนร้ายมักจะหลีกเลี่ยงไม่คุยผ่านวิดีโอคอล
นี่คือกลโกงหลักๆ ที่พบเจอบ่อยที่สุด แต่รูปแบบของมิจฉาชีพออนไลน์ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มากกว่า 90% มักจะโดนหลอกเรื่องให้โอนเงิน
นอกจากนี้ หากเป็นกลุ่มวัยรุ่น มักจะโดนหลอกให้ถ่ายภาพลับส่วนตัว เรื่องทางเพศ
ขยี้จุดอ่อนของอารมณ์
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำว่า วิธีป้องกันตัวที่ดีที่สุดคือ การติดตามข่าวสาร คนถูกหลอก ไม่เกี่ยวกับความฉลาด แต่ต้องรับรู้ข่าวสารปัจจุบัน รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เพราะมิจฉาชีพจะแสวงหาประโยชน์จากอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง และกลัว ทำให้เราตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ ขยี้จุดอ่อนของอารมณ์ ถ้าเราไม่ทำตามจะรู้สึกแย่
“ต้องเตือนตัวเองให้เป็น รู้จักขอความช่วยเหลือ ปรึกษาผู้รู้ ให้รู้จัก “เอ๊ะ” หรือเอะใจ ไม่ใช่ว่า ถ้าไม่โอน จะหาว่าไม่รัก ถ้าไม่แก้ผ้าจะหาว่าไม่ไว้ใจ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ติดตามแคมเปญ “มีความรู้ก็อยู่รอด” ได้ที่ Facebook: AIS Sustainability และรับชมหนังโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดได้ที่ https://m.ais.co.th/rxHnoozSJ
ติดต่อตำรวจไซเบอร์ www.Thai police online.com สายด่วน 1441
สำหรับผู้เขียน มองว่า คาถาป้องกันตัวที่ดีก็คือ อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า และเตือนตัวเองว่า อย่าโลภ
บรรณาธิการเทคโนโลยี
ผัดกะเพรายืนหนึ่งเมนูสตรีทฟู้ดยอดฮิตแห่งปี 2567 บน foodpanda
กทม.และ TikTok ร่วมกันสร้างเมืองแห่งการแบ่งปันผ่าน #BKKFoodBank
8 เทรนด์กระเบื้องมาแรงปี 2025 “From Nature to Life” เชื่อมโยงธรรมชาติกับชีวิต