ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลเพื่อบุคคลออทิสติกและครอบครัว
สหประชาชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day)
ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลเพื่อบุคคลออทิสติกและครอบครัว
ในวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย ได้เปิดศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลเพื่อบุคคลอทิสติกและครอบครัว แห่งแรกของไทย ณ มูลนิธิออทิสติกไทย นำเทคโนโลยีดิจิทัล มาส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งทักษะพื้นฐาน ภาษาอังกฤษ สามารถต่อยอดสู่การมีอาชีพ มีรายได้ พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ตามแผนจะเปิดศูนย์ฯให้ครบ 40 แห่งทั่วประเทศ
ภายใน“ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลเพื่อบุคคลออทิสติกและครอบครัว” (Autism Digital Learning Center) เป็น “พื้นที่แห่งการเรียนรู้และเติมเต็มศักยภาพ ของบุคคลออทิสติกและครอบครัว” ทรูฯ ได้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาหลักสูตรต่างๆ อาทิ พัฒนาทักษะพื้นฐานด้วย Virtual Reality (VR) และนำหลักสูตรภาษาอังกฤษจาก True Click Life เข้ามาช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ เครือฯ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งหวังที่จะส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลในสังคม เคารพในความแตกต่างและการยอมรับศักยภาพของบุคคลออทิสติก ซึ่งต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดพื้นที่ต้นแบบในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคคลออทิสติกและคนทั่วไปแบ่งปันจินตนาการและแรงบันดาลใจร่วมกันผ่านการทำงานศิลปะภายใต้ชื่อ Artstory Creative Hub และที่พิเศษสุด ทรูซีเจได้ผลิตภาพยนต์ซีรีย์ Good doctor หมอหัวใจพิเศษ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความอัจฉริยะภาพอันโดดเด่นของบุคคลออทิสติก ซึ่งซีรีย์เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยให้คนในสังคมได้เข้าใจ ยอมรับ และเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกตามแนวคิดของการรณรงค์ปีนี้
เยาวชนออทิสติกต้นแบบ
ปี 2567 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายองค์กรบุคคลออทิสติกประเทศไทย ได้คัดเลือกยกย่องเยาวชนออทิสติกต้นแบบ หนึ่งในนั้นคือ อเล็ก ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ วัย 18 ปี
อเล็ก เพิ่งเรียนจบชั้นม.6 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเทอมนี้จะเข้าเป็นนักศึกษาปี 1 สาขากราฟิกดีไซน์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
อเล็ก เริ่มวาดภาพอย่างจริงจังในช่วงโควิด-19 เพราะโรงเรียนหยุดยาว แต่จุดเริ่มต้นการวาดภาพ เริ่มจากอเล็กและน้องสาวอยากเขียนนิยายในแอปจอยลดา ซึ่งต้องมีภาพประกอบ อเล็กจึงเล่าคาแรคเตอร์ในนิยายให้น้องสาววาดภาพ แต่ภาพที่น้องวาดยังไม่ตรงใจอเล็ก สุดท้ายน้องจึงบอกให้พี่ชายลงมือวาดเอง
อเล็กจึงเริ่มวาดรูปครั้งแรกบน iPad แล้ววาดต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ สร้างผลงานศิลปะมากมาย
ภาพวาดของอเล็กมาในโทนหนักแน่น เล่นเงา เล่นสี แฝงความหมายลึกซึ้ง ตอนนี้มีผลงานออกแบบเสื้อกับคอลแลปแบรนด์ดังวางจำหน่ายแล้ว ควบคู่ไปกับออกแบบตัวอักษร วาดภาพ ออกแบบหมวก ผ้าพันคอ และเสื้อยืด มีขายบนเพจ Facebook : โลกของอเล็ก
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อเล็กเป็นเด็กพิเศษ ไปเขียนนิยายได้อย่างไร
เรื่องนี้มีคำตอบ จากคุณแม่กบ
“สองคนพี่น้องแอบไปเขียนนิยายบนแอป โดยอเล็กจะแนะนำตัวเองว่า เป็นเด็กพิเศษ แต่จะพยายามเขียน อเล็กมีปัญหาเรื่องสะกดคำ น้องสาวจะทำหน้าที่รีไรท์ให้ทุกตอน ทั้งสองคนมาบอกแม่ก็ตอนที่ต้องเปิดบัญชีเพื่อรับรายได้จากแอป”
เมื่อวานได้พูดคุยกับอเล็กและคุณแม่กบ ดูจากสีหน้าและแววตา การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สัมผัสได้ว่า อเล็กเป็นของขวัญชิ้นพิเศษของบ้าน ที่ผ่านการบ่มเพาะมาอย่างดี ทุกคนในบ้านภูมิใจกับอเล็กที่ค้นหาตัวเองจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้เป็นบุคคลออทิสติกต้นแบบ
หลังจากรับรางวัลเกียรติบัตร อเล็กดีใจและภูมิใจมาก รีบกลับบ้านไปเล่าให้คุณยายฟังทันที
“ บุคคลออทิสติกต้นแบบต้องเป็นคนดี ไม่เกเร ” อเล็ก ตอบคำถามคุณยาย
ทุกวันนี้ อเล็ก มีความมั่นใจ ภูมิใจในตัวเองเต็มเปี่ยม เป็นหนุ่มน้อยรูปร่างสูงใหญ่ เวลาคุยสบสายตายิ้มเอียงอาย สื่อสารได้ฉะฉาน
บรรณาธิการเทคโนโลยี
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้