ท่องเที่ยว-ไลฟ์สไตล์

ปลุกชีวิต…คืนชีวา ตลาดพลู-วงเวียนใหญ่

17 กุมภาพันธ์ 2566

ปลุกชีวิตคืนชีวา ตลาดพลูวงเวียนใหญ่

ตลาดพลู อีกหนึ่งย่านเก่าแก่ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายเมือง คนหน้าใหม่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนเก่าในชุมชน เมื่อคนต่างวิถีเข้ามาอยู่ร่วมกันความเห็นต่างก็เพิ่มขึ้น

  การสร้างความเชื่อมโยงให้คุณค่าของย่านเมืองเก่า ถ่ายทอดออกไปยังคนรุ่นใหม่ในรูปแบบที่สอดรับกับวิถีชีวิตคนเมือง  เป็นโจทย์หลักในการทำนิทรรศการของทีมงาน คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม  ในการจัดทำนิทรรศการ Bangkok Design week   ซี่งเป็นเทศกาลงานออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศในแต่ละปีมากกว่า 400,000 คน 

วัฒนธรรมเชื่อมคนสองยุค

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์  หรืออาจารย์มาร์ค ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบนิทรรศการตลาดพลูวงเวียนใหญ่ ในงาน Bangkok Design week 2023   ที่เพิ่งจบไป เล่าว่า คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม  เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนรายเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในงาน Bangkok Design week 2023 

ย่านตลาดพลูวงเวียนใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ ความเจริญเข้ามาเยือน โครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ เช่น คอนโดมีเนียม บ้านจัดสรร เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้อยู่อาศัยใหม่ เข้ามาในพื้นที่ เกิดการผสมผสานของคนกลุ่มใหม่นอกพื้นที่กับผู้อยู่อาศัยดังเดิมในชุมชน  มีความไม่เข้าใจเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดังเดิมของคนเก่าที่อยู่เดิมในชุมชนตลาดพูลมายาวนาน เกิดเป็นโจทย์ให้ขบคิดหาวิธีเพื่อให้สองวิถีชีวิต คนใหม่ กับคนเก่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่เดียวกันอย่างมีความสุข  พร้อมกับเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ ชาวต่างชาติ เข้ามาสัมผัสมรดก วัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่ย่านตลาดพลูวงเวียนใหญ่ อีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองไทยผ่านมุมมองใหม่

  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จัดนิทรรศการ Bangkok Design week 2023 ในคอนเซ็ปต์เมืองมิตรดีเราได้ตีโจทย์ นำต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นคุณค่าในการต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับชุมชน โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลเริ่มระดมสมองคุยกันในคณะฯ ทั้งคนรุ่นเก่า คืออาจารย์ และคนรุ่นใหม่คือนักศึกษาในคณะฯ มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่สามารถช่วยให้การสื่อสารออกไปสร้างความเข้าใจให้คนเก่าและคนใหม่ในพื้นที่ คงไว้ซึ่งต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนตลาดพลู ซึ่งนับเป็น คุณค่า ที่ต้องต่อยอดออกไปให้ทันสมัยผ่านนิทรรศการ

ส่วนแรก

เพื่อสร้างความเข้าใจคุณค่าของวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ซึ่งอยู่อาศัยมานาน

จึงต้องทำให้คนรู้จักและสัมผัสของดีย่านตลาดพลูวงเวียนใหญ่ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนได้สัมผัสจากการลงมือทำผ่านกิจกรรมลักษณะทำเวิร์คช็อป

เช่น จัดกิจกรรมระบายสีหัวสิงโต เนื่องจากในย่านนี้มีคณะเชิดสิงโตที่มีชื่อเสียง

กิจกรรมเรียนรู้เรื่องการทำว่าว  เพราะย่านนี้มีแชมป์การเล่นว่าว

เปิดพื้นที่โรงสีเพื่อให้เรียนรู้เรื่องเส้นทางการค้าข้าวในอดีต

ส่วนที่ 2

อยากเห็นว่า ในย่านเดิมที่มีคนใหม่เข้ามาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อยากเห็นย่านนี้ในอนาคตแบบไหน  จึงเลือกใช้การสื่อสารผ่านศิลปะเป็นตัวกระตุ้นความคิด  ใช้แสงสีเพิ่มความสดใส มองเห็นง่าย เช่น บริเวณศาลเจ้า นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ออกแบบแผนที่ย่านตลาดพลูวงเวียนใหญ่ ให้เข้าถึงงาน

ส่วนที่ 3

คือการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนในชุมชนที่เป็นพลังขับเคลื่อนของย่านนี้ เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองว่าจะทำอย่างไรกับย่านที่อยู่อาศัยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง

จากห้องเรียน สู่ระบบคิดในสนาม

กิ๊ฟ  โชติรส จันเอก  และ มิ้ม พัชรินทร์ เครือศรี  จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งตอนนี้ทำงานอิสระด้วยการรับออกแบบ  ยอมรับว่า การออกแบบนิทรรศการของ Bangkok Design week  เป็นประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากในห้องเรียน   ได้เรียนรู้พื้นที่จริง  คุยกับคนในชุมชนได้รู้ปัญหาและสิ่งที่ชุมชนต้องการ  การทำความเข้าใจกับความต้องการของคนที่เข้ามาอยู่ใหม่  จะต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและถูกต้อง

เสียงสะท้อนจากชาวตลาดพลู

พี่จิ๋ม อรพิณ วิไลจิตร หนึ่งในชาวตลาดพลูหน้าใหม่ผู้หลงใหลเสน่ห์ชุมชนตลาดพลู เจ้าของอาคารสีเหลือง 3 ชั้น ที่ครั้งหนึ่งเป็นที่ทำการทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอดีต  ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมในพื้นที่พัฒนาย่านตลาดพลูและสื่อสารผ่าน FACEBOOK FANPAGE ‘ถามสิ อิฉันคนตลาดพลูซึ่งมียอดผู้ติดตามจำนวนมาก

การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคการศึกษาในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของการต่อยอดสร้างมูลค่าชุมชนตลาดพลูให้คงอยู่ไม่จางหายไปกับการเวลา โดยการต่อยอดสร้างมูลค่าของดีผ่านมุมมอง รูปแบบใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ

ลุงตุ๋ย อาทร พูลศิริ  เจ้าของผลิตภัณฑ์ งานโมเดลจำลองทำด้วยมือของทหารผ่านศึก ผู้ใช้ทักษะช่างไม้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต แกะแบบออกแบบโมเดลจำลองไม้ หาเลี้ยงชีพ ช่วงโควิดระบาด ด้วยการรับออเดอร์จากลูกค้าที่ต้องการโมเดลไปเป็นของขวัญในเทศกาลต่าง และเข็นขายในพื้นที่ตลาดพูล โดย 1 งาน ใช้เวลาทำนาน 8 ชั่วโมง แต่บางวันเข็นขายตั้งแต่เช้ายันเย็นกลับขายไม่ออกแม้แต่ชิ้นเดียว

โดยจากการเดินสำรวจของกลุ่มนักศึกษา ได้พบคุณลุงและพูดคุยถึงปัญหา พบว่า คุณค่าของงานคุณลุงอยู่ที่ ทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ หากนำสิ่งนี้มาคิดรูปแบบการนำเสนอใหม่ เปิดเวิร์คช็อปให้คนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ประกอบงานไม้ของตัวเอง จะทำให้คนเห็นคุณค่าของงานและบอกต่อ ทำให้คุณลุงมีออเดอร์เพิ่มขึ้น และได้ช่วยออกแบบแพคเกจจิ้ง เพิ่มความสวยงามให้งานไม้จำลองมีมูลค่าและมนต์คลังยิ่งขึ้น

เด็กรุ่นใหม่เขาคิดเก่ง ทำงานของลุงมีคุณค่า น่าจดจำ มากขึ้น และลุงยังได้แบ่งปันประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังได้เก็บไปเป็นแรงบันดาลใจและงานไม้จำลองของลุงอาจจะมีคนเห็นค่าและสืบทอดไว้

ผู้เขียน
ทีม iJournalist

Share
Related
More read

Tags

  • ตลาดพลู
  • ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์
  • มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • วงเวียนใหญ่
  • สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล