เศรษฐกิจ

“ผึ้ง” สัตว์มหัศจรรย์ Super Hero ของมวลมนุษย์

19 ธันวาคม 2565

มนุษย์รู้จักคุณประโยชน์ของน้ำผึ้งมานานนับพันปี พระนางคลีโอพัตราแห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ ใช้น้ำผึ้งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม แต่น้ำผึ้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งมหัศจรรย์ที่ผึ้งสร้างให้แก่มวลมนุษย์ ขณะที่แวดวงนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมตระหนักดีว่า ในความเป็นจริงสถานะอันสำคัญยิ่งของ “ผึ้ง” ที่ส่งผลต่อโลกนี้ คือ บทบาทแมลงผสมเกสร
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2549 ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ผึ้งตายยกรัง จำนวนผึ้งทั่วโลกลดลง 25-85% อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถึงกับต้องออกมาประกาศโครงการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงการตระหนักในความสำคัญของการดำรงอยู่ของผึ้ง

ปราศจากผึ้ง มนุษย์จะอดตาย
35% ของการผลิตพืชอาหารทั่วโลกต้องอาศัยผึ้งและแมลงผสมเกสร และผึ้งจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมี เจ้าแมลงตัวจิ๋วนี้จึงเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศ มีข้อมูลวิชาการบ่งชี้ว่า การฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมจะทำได้เร็วขึ้นกว่าธรรมชาติถึง 10 เท่า หากมีผึ้งและแมลงช่วยทำหน้าที่ผสมเกสร
ในแง่เศรษฐกิจพบว่า มูลค่าตลาดของน้ำผึ้งทั่วโลกอยู่ที่เกือบ 50,000 ล้านบาท/ปี แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการที่ผึ้งทำหน้าที่ผสมเกสร มากกว่านั้นถึง 150 เท่า !!!

Bee ParK แหล่งความรู้เรื่องผึ้งครบวงจรที่สุดของไทย
“ผึ้งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่สุดในโลก” รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตจอมบึง จังหวัดราชบุรี เล่าว่า ทำงานวิจัยด้านผึ้งมานานกว่า 10 ปี โดยมุ่งศึกษา 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ พฤติกรรมของผึ้งที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสภาพภูมิอากาศ การสร้าง “รังผึ้งฉลาด” หรือ “Smart Hive” เพื่ออ่านภาษาของผึ้ง การใช้ประโยชน์จากผึ้งเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และการสร้างน้ำผึ้งมูลค่าสูงผ่านแบรนด์ BEESANC

ผึ้งไทย เก่งไม่แพ้ผึ้งฝรั่ง
“น้ำผึ้งมานูก้า” ติดแบรนด์ของต่างประเทศขวดเล็กนิดเดียวราคาเป็นพันบาท ถ้าคิดตามน้ำหนักตกกิโลกรัมละ 20,000 บาท แต่น้ำผึ้งไทยใส่ขวดเหล้าขายกันไม่กี่ร้อยบาท แล้วคนก็ยังติดอยู่กับคำถามว่า “น้ำผึ้งแท้หรือปลอม ??”
ศูนย์วิจัย Bee Park จึงมุ่งศึกษาเรื่องผึ้งพื้นเมือง และพบว่าหากสามารถดูแลได้ตั้งแต่ผึ้งที่นำมาเลี้ยง วิธีการเลี้ยง พืชอาหารของผึ้ง การเก็บและรักษาน้ำผึ้ง ก็จะได้น้ำผึ้งคุณภาพดีและจำหน่ายได้ในราคาใกล้เคียงกับน้ำผึ้งแบรนด์ดังของต่างประเทศ หรืออย่างน้อยราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท

ลงทุน 0 บาท ไม่มีเวลาก็เลี้ยงได้
ข้อดีของผึ้งพันธ์ุพื้นเมืองคือแข็งแรง ปรับตัวเก่ง เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย หากมีองค์ความรู้ เข้าใจพฤติกรรมของผึ้ง มีแหล่งอาหาร การเลี้ยงผึ้งไม่ใช่เรื่องยากและทำรายได้ต่อเนื่อง เพราะน้องผึ้งไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไป สามารถหากินเองได้ ไม่ต้องการการดูแลมาก นาน ๆ ครั้ง 1-2 เดือนแวะไปดูอย่าให้มีศัตรูมารบกวน ส่วนบ้านหรือกล่องที่จะให้ผึ้งมาทำรังก็สามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่มาสร้างได้เอง หรือสั่งซื้อราคาไม่กี่ร้อยบาทใช้ได้นานหลายปี
ตัวอย่างเช่นผึ้งชันโรง 1 รัง ให้น้ำผึ้งครั้งละ 1 กิโลกรัม ราคาขายไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท หากเก็บน้ำผึ้งแค่ปีละ 2 ครั้ง ก็เท่ากับผึ้ง 1 รังทำรายได้ปีละ 2,000 บาท เลี้ยง 10 รังก็ได้ 20,000 บาท
อาจารย์ปรีชา รอดอิ่ม หนึ่งในผู้ทำวิจัยด้านผึ้งของศูนย์ Bee Park เล่าว่า หากเข้าใจพฤติกรรมของผึ้ง เราก็จะสามารถออกแบบสวนผึ้งและเลี้ยงผึ้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ของเราได้ เช่น ผึ้งแต่ละชนิดมีระยะบินหาอาหารไม่เท่ากันตั้งแต่ 50 เมตร ถึง 3 กิโลเมตร การหาหรือปลูกพืชอาหารโดยไม่ให้ผึ้งต้องเจอกับสารเคมี หรือการตอบสนองของผึ้งเมื่อเผชิญกับศัตรูจนอาจทิ้งรัง รวมถึงเทคนิคการดูแลผึ้ง และการเก็บน้ำผึ้งที่ได้คุณภาพดี เป็นต้น
ปัจจุบันศูนย์วิจัย Bee Park เปิดคอร์สฝึกอบรม “ฟรี” ให้ผู้สนใจเลี้ยงผึ้ง หลักสูตรเบื้องต้นใช้เวลาเพียง 2 วัน เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ และเมื่อกลับไปเลี้ยงผึ้งแล้วพบปัญหาอุปสรรคก็ยังสามารถขอคำปรึกษามาทางศูนย์ฯ ได้ตลอด ล่าสุดมีผู้ลงชื่อจองคิวเข้าอบรมนับร้อยคนแล้ว แต่หากรวมกลุ่มกันได้แล้วติดต่อมาทางศูนย์ฯ ก็สามารถนัดคิวส่งวิทยากรไปอบรมให้ได้ หรือติดต่อศูนย์เรียนรู้ที่เป็นเครือข่ายของ Bee Park มจธ. ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมเป็นวิทยากรกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค

จากคนแพ้ผึ้ง กลายเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงผึ้ง
“ครั้งแรกที่ผมไปอบรมกับศูนย์ Bee Park ภาคทฤษฎีผมได้เรียนรู้ทุกอย่าง แต่พอถึงภาคปฏิบัติผมต้องไปยืนดูห่างเป็นร้อยเมตร เพราะผมแพ้ผึ้ง ถ้าถูกผึ้งต่อยจะหายใจไม่ออก” ผู้ใหญ่แมนรัตน์ ฐิติธนากุล ผู้ใหญ่บ้านลำพระใต้ หมู่ 11 ตำบลบ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกต้องมียาฉีดแก้แพ้พกติดตัวตลอดเวลา ผ่านมากว่า 2 ปีตอนนี้ร่างกายเริ่มปรับตัวได้ อาการแพ้ยังมีอยู่บ้างแต่ไม่รุนแรง
“โดนผึ้งต่อยแทบทุกวัน จนชินแล้วครับ” ผู้ใหญ่แมนรัตน์ กล่าวและว่า สาเหตุที่ตัดสินเลี้ยงผึ้งมาจากความต้องการที่จะแก้ปัญหา 3 เรื่องของครอบครัวตนเองและชุมชน คือ ปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีเกษตร โดยคุณพ่อของตนเสียชีวิตจากผลของการใช้สารเคมีในไร่สับปะรดมานานหลายสิบปี ปัญหาที่ชาวบ้านทำไร่แบบเดียวกันแต่มีหนี้สินท่วมตัว และปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่
การจะชักชวนให้คนอื่นทำตาม ต้องทำเองให้เป็นตัวอย่าง ตอนนี้ผู้ใหญ่แมนรัตน์ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา และเป็นศูนย์เรียนรู้ผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา มีสมาชิกเครือข่ายทั้งในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดอื่น ๆ ทุกภาคของประเทศกว่า 1,000 ราย และร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่จัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ฝึกเลี้ยงผึ้ง สมาชิกเครือข่ายอายุน้อยที่สุดเรียนอยู่ชั้น ป.3 ส่วนที่อายุมากที่สุดคือ 97 ปี

คนเลี้ยงผึ้ง ผึ้งช่วยโลก
ศูนย์วิจัย Bee Park มจธ.ได้อบรมเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งจนมีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยผลผลิตน้ำผึ้งจากเครือข่ายสมาชิกจะส่งมาขายให้ศูนย์ฯ ทั้งหมด ในราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท และเมื่อทดสอบคุณภาพแล้วก็จะบวกราคาเพิ่มกลับไปให้ผู้เลี้ยงผึ้งอีก โดยศูนย์ฯ จะนำน้ำผึ้งไปจำหน่ายภายใต้แบรนด์ BEESANC ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับซื้อแน่นอนและมีสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการ
ภารกิจของศูนย์วิจัย Bee Park มจธ.จึงตอบโจทย์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริง ไม่ถูกเก็บขึ้นหิ้งโดยไร้ประโยชน์ และมุ่งสู่เป้าหมาย 3 ประการ คือ ขจัดความยากจน สร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยลดใช้สารเคมี และลดความเหลื่อมล้ำของผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าคนยากจน เด็กนอกระบบการศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนชายขอบ.

ผู้เขียน
ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเศรษฐกิจ

More read

Tags

  • Bee Park
  • BEESANC
  • จอมบึง
  • ผี้ง
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ราชบุรี