องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินสถานการณ์โรคสมองเสื่อมจะเป็น pandemic เหมือนโรคโควิด 19 เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ โลกจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2050 กว่า 14% ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เท่ากับว่าในปี 2050 สัดส่วนประชากร 1 ใน 4 บนโลกจะมีอายุมากว่า 65 ปี
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ และมีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรมด้วย โดยอาการเริ่มต้นที่พบได้ คือ การถามซ้ำ ๆ เริ่มคิดอะไรที่ซับซ้อนไม่ค่อยได้ มีอาการหลงลืม หลงทิศทาง สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ เป็นต้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำประชาชนให้หันมาบริโภคสมุนไพรพื้นบ้าน 2 ชนิด ใบบัวบก และ พรมมิ เพื่อป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต
ใบบัวบก หรือ ผักหนอก ตามตำราการแพทย์แผนไทยนอกจากสรรพคุณในการแก้ช้ำในแล้ว ยังมีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย บำรุงร่างกาย คลายความเมื่อยล้า บำรุงหัวใจ และตามตำราอายุรเวทของอินเดีย ใบบัวบก มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง จากการศึกษาวิจัยของนักวิจัยไทยและอินเดีย พบว่า สารสกัดจากใบบัวบกสามารถเพิ่มความจำและปรับสภาพอารมณ์ในผู้สูงอายุที่มีสภาวะความจำเสื่อมเล็กน้อย รวมถึงมีฤทธิ์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กพิการทางสมองได้อีกด้วย ซึ่งใบบัวบกสามารถนำมารับประทานเป็นผักเคียง หรือเมนูยำใบบัวบก หรือการคั้นน้ำสำหรับเป็นเครื่องดื่ม และ
พรมมิ หรือ ผักมิ ซึ่งก็เป็นพืชผักสมุนไพรที่กำลังเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เนื่องมาจากสรรพคุณในการบำรุงประสาทและสมอง โดยใช้รับประทานเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก ตามตำราอายุรเวทอินเดีย พรมมิ มีสรรพคุณเพิ่มความจำและบำรุงสมอง ในทางการแพทย์อายุรเวทก็มีการนำพรมมิมาใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เช่น โรคลมชัก ลมบ้าหมู เป็นยาบำรุงประสาท และส่งเสริมการทำงานของสมองในด้านการจดจำ เนื่องจากพรมมิ มีสารสำคัญที่มีการศึกษามากที่สุด คือ Bacoside A และ Bacoside B ซึ่งมีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพความจำและการตัดสินใจ ช่วยปกป้องเซลล์สมอง ต้านความจำเสื่อม ช่วยให้นอนหลับสบาย ป้องกันอาการชักและลดความวิตกกังวล เป็นต้น
“หมอนรองกระดูกยื่น” กับ “กระดูกสันหลังเคลื่อน” ปวดหลังเหมือนกัน แต่รักษาต่างกัน
ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นตามคาด ผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608
วันเด็กบนดอยสูงกิจกรรมเติมพลังของนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ
แอลจี เปิดวิถีสุดล้ำใช้ชีวิตในหนึ่งวันด้วย ‘ความอัจฉริยะที่มีเสน่ห์’