เทคโนโลยี

ไปเที่ยวเมืองเก่าอยุธยา นั่ง “รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ” คันแรกของไทย

1 กุมภาพันธ์ 2567

ไปเที่ยวเมืองเก่าอยุธยา นั่ง “รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ” คันแรกของไทย

รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ คันแรกของไทย  รถต้นแบบนำร่องให้บริการรับส่งฟรี รอบบึงพระราม  พระนครศรีอยุธยา  จนถึงเดือนกรกฎาคม 2567

โครงการรถบัสไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับ 5G   ขนาด 20 ที่นั่ง  เป็นผลงานจากการวิจัยและพัฒนา โดยศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center หรือศูนย์  MOVE    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ( มหาชน ) หรือ TKC   ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบ 5Gและระบบเทคโนโลยีดิจิทัล  นำองค์ความรู้ทางด้านการเชื่อมต่อระบบสื่อสารเทคโนโลยี    C-V2X

หรือ Cellular Vehicle-to-Everything บนเครือข่าย 5G มาประยุกต์ใช้

บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด เชี่ยวชาญด้านระบบหุ่นยนต์และยานยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ และ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด ( มหาชน ) ผู้ผลิตรถโดยสาร EV   

ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 27 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ( กทปส.)   โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช. )

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 เดือน (พฤศจิกายน 2565 – กรกฎาคม 2567 )

ไร้คนขับแต่ยังมีคนขับ เพราะเป็นรถยนต์อัตโนมัติระดับ 3

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE

(Mobility & Vehicle Technolgy Research Center) มจธ. เล่าให้ฟังว่า  การพัฒนารถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G ต้นแบบคันนี้  ประกอบด้วยการวิจัยพัฒนาหลายส่วน ทั้งการพัฒนาและติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้าไปในรถบัสไฟฟ้าซึ่งถูกผลิตในประเทศไทย

การพัฒนาระบบควบคุมรถจากข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากเซนเซอร์ การทำแผนที่ความละเอียด

สูงในเส้นทางวิ่งที่กำหนด และการเขียนโปรแกรมควบคุมและสั่งการรถบัส  การจัดทำระบบสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สาย 5G ที่จะทำให้รถสามารถสื่อสารกับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จองที่นั่งผ่านแอปพลิเคชันได้

โดยรถบัสมีความสามารถการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ซึ่งจะขับเคลื่อนได้เองตามเส้นทางวิ่งที่กำหนดไว้ แต่ยังต้องมีพนักงานขับขี่นั่งอยู่หลังพวงมาลัย เพื่อความปลอดภัยและการตัดสินใจในบางสถานการณ์  เช่น จังหวะแซง  หากมีรถจอด  หรือต้องเบรคฉุกเฉิน ก็จะเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถ

ข้อมูลทางเทคนิคของรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ ระดับ 3

การออกแบบระบบ Drive by wire ประกอบด้วย 1.ระบบบังคับพวงมาลัยด้วยสัญญาณไฟฟ้าผ่านมอเตอร์ที่ติดตั้งบริเวณก้านพวงมาลัยเพื่อควบคุมการหมุนของพวงมาลัย  2.ระบบเบรกด้วยสัญญาณทางไฟฟ้าผ่านมอเตอร์ที่ติดตั้งไว้บริเวณแป้นเบรก  3.ระบบสั่งการคันเร่งด้วยสัญญาณทางไฟฟ้าควบคุมการเปลี่ยนความเร็วรถ

ระบบย่อยทั้ง 3  จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคนขับ  มีฟังค์ชั่นสั่งการ 7 ฟังค์ชั่นคือ  เร่ง  เบรก  การหมุนพวงมาลัย สตาร์ทรถ  เปลี่ยนเกียร์ เปิดปิดไฟเลี้ยว และการทำงานของแตร

เซ็นเซอร์บนรถ  ประกอบด้วย เซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุและวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์  ( Light Detection and Ranging System  ) หรือ LiDAR   สามารถตรวจจับวัตถุในระยะไกล 100 เมตร จำนวน 4 ตัว  ระยะ 200 เมตร 2 ตัว ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์อีก 1 ตัวบริเวณหน้ารถ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาประมวลผลบนแผนที่ความละเอียดสูง เพื่อให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ทำการตัดสินใจและสั่งบังคับรถผ่านระบบ Drive by wire

การสื่อสารของรถกับเครือข่าย 5G

รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ คันแรกของไทยนี้   ภายในรถใช้การสื่อสารแบบ C-V2X  หรือ  Cellular Vehicle-to-Everything   ซึ่งรถสามารถรับส่งข้อมูลผ่านระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ กับ ศูนย์ข้อมูล (Data center) ซึ่งบริเวณจุดจอดรับส่ง  จะมีแอปพลิเคชันบนป้ายจุดจอดรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเรียกให้รถมารับที่จุดจอดที่กำหนดไว้   รวมถึงจองที่นั่งล่วงหน้า  เรียกดูตำแหน่งปัจจุบันและเวลาที่รถจะมาถึง

ในอนาคต ระบบที่พัฒนาขึ้นมานี้ สามารถต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อยานยนต์กับการใช้งานด้านอื่น  ได้แก่ การเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้โดยสารหรือผู้ให้บริการ การเชื่อมต่อกับคนเดินเท้าหรือยานยนต์คันอื่น รวมถึงป้ายสัญญาณไฟจราจร  การรายงานอุบัติเหตุบนเส้นทาง  จะทำให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

งานวิจัยรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับทำให้เห็นโอกาสของไทย

ดร.ยศพงษ์  ยอมรับว่า   การทำโครงการนี้ ทำให้เห็นทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด ในด้านนโยบาย ด้านมาตรฐาน และด้านอื่น ๆ ของประเทศในการพัฒนา “ยานยนต์เชื่อมต่อและขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ซึ่งเป็นยานพาหนะเพื่อการเดินทางสมัยใหม่

ดังนั้น การทดลองวิ่งให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จะช่วยผลักดันให้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม  หันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านนี้ อย่างจริงจัง

ทั้งยังเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นร่วมกันผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ และยกระดับการท่องเที่ยวไร้มลพิษ

อยากนั่งต้องทำอย่างไร

ในระยะแรกจะมีการทดลองวิ่งให้บริการแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ในเส้นทางรอบบึงพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันศุกร์ – วันอังคาร เวลา 09.00 – 17.00 น.  เรียกรับบริการ ผ่านแอปพลิเคชัน “5G Auto Bus” ได้ ณ ป้ายจอดรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ 4 แห่ง

รอบบึงพระราม ได้แก่ 1.ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา 2.วัดมหาธาตุ 3.วัดธรรมิก

ราช 4.วัดพระราม รวมระยะทาง รอบบึงพระราม   2.8 กิโลเมตร

ความเร็วทำได้สูงสุดเหมือนรถบัสทั่วไป แต่ด้วยข้อจำกัดของเส้นทางรอบบึงพระราม ซึ่งเป็นถนนเล็กสองเลนวิ่งสวนทาง   จึงใช้ความเร็ว ประมาณ 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ส่วนจุดชาร์จไฟจะติดตั้งอยู่ที่เทศบาล  เป็นเครื่องอัดประจุกระแสตรง กำลังไฟ 40 kW

แท่นชาร์จอีวีฝีมือวิศวกรไทยล้วนๆ

นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท TKC  เปิดเผยว่า   TKC ได้รับโอกาสจากทาง มจธ. ให้เข้ามาร่วมงานในส่วนของงานวิจัย (R&D)  ดีไซน์ตัวระบบ  ซึ่ง TKC มีจุดแข็งเรื่องไอที การสื่อสาร และซอฟต์แวร์ จึงใช้จุดแข็งมาพัฒนาซอฟต์แวร์ในระบบสื่อสารผ่านมือถือ 5G  เพราะรถบัสจะวิ่งได้ต้องมีการสื่อสารตลอดเวลา เพื่อวิ่งตามช่องทางที่กำหนด

“ แรก ๆ มีข้อที่ต้องแก้ไขมากมาย เพราะเป็นรถบัสไร้คนขับและยังเป็นอีวีคันแรกในประเทศไทย

TKC ยังรับหน้าที่ทำแท่นชาร์จอีวี ร่วมกับ มจธ.ซึ่งเป็นแท่นชาร์จ ที่ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทำโดยฝีมือคนไทยทั้งหมด ใช้วิศวกรคนไทยล้วน ๆ จาก มจธ.และ TKC ร่วมกัน  เชื่อว่า เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน คือรถยนต์อีวีกึ่งไร้คนขับ 

ดังนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้รับโอกาสจาก กองทุน กทปส. โอกาสที่คนไทยจะได้ริเริ่มทำวิจัยออกมาเป็นโปรดักส์แทบไม่มีเพราะต้องลงทุนมหาศาล  ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทำออกมาได้ และเป็นรถบัสอีวีไร้คนขับคันแรกของไทย

มหาวิทยาลัยพร้อมผลิตกำลังคนทั้งตรี โท เอก

หลังจากเป็นประธานเปิดตัวรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ เทคโนโลยี 5G คันแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์ถึงการผลิตกำลังคนในสาขาที่เกี่ยวข้องรถยนต์ไฟฟ้า  ระบบอัตโนมัติ  ว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนในชั่วข้ามคืน มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ทั้งของ อว.  สวทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ได้พยายามสร้างสตาร์ทอัพ ไปจับคู่กับแวนเดอร์จากต่างประเทศ   เพื่อช่วยกัน   กระทรวง อว. ไม่เคยหยุดพัฒนาคน  เพราะคนมีหน้าที่สร้างชาติ

“ หลักสูตรทั้ง Upskill Reskill   ในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม ออกแบบหลักสูตรทั้งตรี โท เอก   ถือว่าเป็นกำลังคนในภาคผู้ผลิต  ส่วนภาคผู้ซ่อมก็จะเป็นพัฒนากำลังคนของสายอาชีวศึกษา และราชมงคล 

ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 ไปเที่ยวย่านเมืองเก่าอยุธยา จากที่เคยขับรถไปจอดใกล้ๆ  จากที่เคยเดิน หรือปั่นจักรยานรอบบึงพระราม  แนะนำให้ทดลองนั่งรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ เรียนรู้และสัมผัสเทคโนโลยีล้ำสมัยควบคู่ไปกับความรื่นรมย์ในอุทยานประวัติศาสตร์ ดีต่อใจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ

ติดต่อนักวิจัย : ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center หรือศูนย์  MOVE    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

https://move.kmutt.ac.th

อีเมล move@kmutt.ac.th

โทร.02 470 9637 ,092 465 8936

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้...
  • นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศา...
  • นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท TKC
  • มจธ.
  • รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันแรกของไทย
  • ศูนย์ MOVE
  • เที่ยวเมืองเก่าพระนครศรีอยุธยา