ข่าวประชาสัมพันธ์

โครงการทดลองระบบสื่อสารในรถยนต์ไร้คนขับ

16 สิงหาคม 2565

ไม่นานอาจได้เห็นใช้งานจริง กทปส.และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศึกษาและทดลองระบงสื่อสารผ่านเทคโนโลยี 5 G ในรถยนต์ไร้คนขับ

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.)  และ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมกันทำโครงการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ เพื่อศึกษาข้อมูลทางเทคนิค ข้อจำกัด และปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจหรือการควบคุมรถ ทดสอบความสามารถในการตรวจจับ การบ่งชี้วัตถุของระบบตรวจจับของรถไร้คนขับ ทดสอบระบบสื่อสารภายใต้โครงข่าย 5G มาใช้งานระหว่างรถไร้คนขับในรูปแบบการติดต่อสื่อสาร C-V2X

โครงการนี้  ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)  เตรียมโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตามจำเป็นในการทดสอบเชื่อมต่อเข้ากับ Core Network และการทดลอง C-V2X รวมทั้งให้ข้อมูลที่จำเป็นและสนับสนุนในการดำเนินการในโครงการ

ขอบคุณภาพจาก  https://www.eng.chula.ac.th/th/34771 

.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทดสอบความสามารถของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในการตรวจจับวัตถุต่างๆ ขณะขับขี่แบบไร้คนขับ เพื่อพัฒนาระบบควบคุมรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในอนาคต ซึ่งรถประเภทนี้จะใช้รับส่งผู้โดยสารในช่วงต้นและท้ายของการเดินทาง (First-last mile) โดยเชื่อมต่อกับการเดินทางโหมดอื่นๆ

  “ เทคโนโลยีรถไร้คนขับ ยานยนต์แห่งอนาคต เป็นหนึ่งใน 4 ส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์สมัยใหม่ ที่ประกอบด้วย C-A-S-E กล่าวคือ Connected, Automated, Shared และ Electric vehicle ซึ่งถ้าเทียบกับส่วนประกอบอื่นแล้ว รถไร้คนขับต้องการความพร้อมและการผนวกรวมในระดับสูงสุด ของทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟ์ทแวร์และโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารและคมนาคม “

  โครงการทดลองครั้งนี้  ศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility Research Center) มุ่งหวังให้แพลตฟอร์มรถไร้คนขับที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้เป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้นักวิจัยเข้ามาใช้ประโยชน์  ทดสอบขยายผล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ใช้รถใช้ท้องถนน

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  (https://www.depa.or.th)  ระบุว่า รถยนต์ไร้คนขับ(Autonomous Car หรือ Self-driving Car) หรือรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยคนควบคุม เป็นการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้

Navigation หรือระบบแผนที่ ซึ่งประกอบด้วยระบบการระบุตำแหน่งของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจากดาวเทียม และระบบแผนที่เสมือนจริงที่เก็บรวบรวมข้อมูลในคลังข้อมูลดิจิทัล

Computer Vision หรือระบบที่ทำหน้าที่เป็นตาและหูให้กับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเมื่อรถวิ่ง

Deep Learning หรือระบบประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ ทำหน้าที่เหมือนสมองของรถยนต์ไร้คนขับเป็นระบบที่ทำให้รถยนต์อัตโนมัติสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองจากการประมวลผลข้อมูลที่รับมาจากระบบ Computer Vision

Robotics หรือระบบที่เชื่อมต่อระบบประมวลผลส่วนกลางเข้ากับระบบเครื่องจักรต่างๆ ในตัวรถโดยทำหน้าที่เสมือนเส้นประสาทที่เชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับแขนขาและส่วนต่างๆ ของร่างกาย

สมาคมวิศวกรยานยนต์ หรือ Society of Automotive Engineering (SAE)  ได้กำหนดมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ ได้แบ่งระดับความเป็นอัตโนมัติในรถยนต์ไร้คนขับ จำแนกตามระดับของการเข้ามามีส่วนยุ่งเกี่ยวของมนุษย์

โดยมีระดับความอัตโนมัติตั้งแต่ระดับ 0 (No Automation) ซึ่งเป็นระดับที่มนุษย์ควบคุมรถยนต์เองทั้งหมด จนถึงระดับ 5 (Full Automation)  ปัจจุบัน เทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดของบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 4 นั่นหมายถึง รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้เองในสภาวะที่จำกัด

ทังนี้ รถยนต์ไร้คนขับมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยลดอุบัติเหตุเป็นตัวเลือกในการเดินทางสำหรับคนที่ไม่สามารถขับรถได้ รวมถึงการลดระยะเวลาในการเดินทาง

Share
Related
More read

Tags

  • 5G
  • AIS
  • depa
  • กทปส
  • การสื่อสาร
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ทดสอบ
  • รถยนต์ไร้คนขับ
  • ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิท...