สุขภาพ

“โควิด” แนวโน้มลดลง แต่เด็กเล็กเสี่ยงเสียชีวิตสูง

31 ตุลาคม 2565

สถานการณ์โควิด 19 แนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอยู่  ที่น่าเป็นห่วงก็คือกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 4 ปี เพราะติดเชื้อมากขึ้นและมีโอกาสอาการรุนแรง/เสียชีวิตสูงกว่าเด็กโตถึง 3 เท่า วัคซีนยังคงมีความสำคัญ ช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในหลายประเทศแถบยุโรปและเอเชียเป็นช่วงขาลง สำหรับประเทศไทยสถานการณ์มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-29 ตุลาคม 2565) มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,551 ราย เฉลี่ยวันละ 364 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 320 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 164 ราย และผู้เสียชีวิต 33 ราย เฉลี่ยวันละ 4 ราย โดยผู้เสียชีวิต 97% เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในจำนวนนี้ยังไม่ได้รับวัคซีน/ได้รับวัคซีนไม่ครบ/ไม่ได้รับเข็มกระตุ้นถึง 76% ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อยังมาจากกิจกรรมการรวมกลุ่มคนและไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย

กรมควบคุมโรคยังติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวนี้ พร้อมทั้งเฝ้าระวังสัญญาณการแพร่ระบาด ทั้งในสถานพยาบาล การระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน กลุ่มเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยง และการตรวจหาสายพันธุ์กลายพันธุ์ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การติดเชื้อในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิคอน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 ตุลาคม 2565 พบว่า กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี ติดเชื้อถึง 121,388 ราย ปอดอักเสบ 1,422 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 382 ราย และเสียชีวิต 69 ราย

นอกจากจะติดเชื้อสูงกว่าเด็กช่วงวัยอื่น ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าถึง 3 เท่าด้วย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงยังคงเดินหน้ารณรงค์การให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง และกลุ่มเด็กเล็ก 6 เดือน – 4 ปี ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น โดยขอให้มารับวัคซีนได้ตามความสมัครใจ ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคเพิ่มสูงขึ้น