หลงใหลในกลิ่น ชื่นชอบในรสชาติ แก้ง่วง เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ชอบบรรยากาศในร้านคาเฟ่ ฯลฯ หลากหลายเหตุผลที่ทำให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มแก้วโปรด แต่ไม่ว่าจะดื่มด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ต้องดื่มอย่างพอดี เพราะในกาแฟมีคาเฟอีน หากได้รับในปริมาณที่มากเกิน ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ใหญ่สามารถบริโภคคาเฟอีนได้ โดยควรรับในปริมาณที่เหมาะสมจากเครื่องดื่ม และอาหารต่างๆ แนะนำให้จำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับในแต่ละวันไม่เกิน 300 – 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟ 3 – 4 แก้ว
หากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไปหรือเรียกว่าการบริโภคคาเฟอีนเกินขนาด (Caffeine Overdose) จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ
ระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้มือสั่น นอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวล ปวดศรีษะ บางครั้งอาจทำให้ชักได้
ระบบทางเดินอาหาร จะเพิ่มการหลั่งของกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้ปริมาณน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ จึงควรหลีกเลี่ยงกาแฟทุกชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน เป็นส่วนประกอบ
ระบบการไหลเวียนโลหิต คาเฟอีนกระตุ้นหัวใจ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต อาจเพิ่มความดันโลหิตชั่วคราว โดยเฉพาะในผู้ที่ปกติไม่บริโภคคาเฟอีน กลุ่มที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่เดิม ภาวะความดันโลหิตสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
ระบบทางเดินปัสสาวะ คาเฟอีนลดการดูดน้ำกลับ ตอนผ่านเข้าไปในไต ทำให้ไตขับน้ำออกมาเยอะขึ้น กระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อยขึ้น แคลเซียมซึ่งเป็นสารก่อนิ่วชนิดหนึ่ง จะถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอาจก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจเป็นอันตราย ร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะไตวาย
“ควรเลือกดื่มเป็นกาแฟดำไม่ใส่นมและน้ำตาล เลือกสั่งแบบหวานน้อย หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ที่มีสัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ ที่ปรากฏบนซองหรือบรรจุภัณฑ์สินค้า หรือหากต้องการจำกัดไขมัน หรือน้ำตาล อาจเลือกเป็นสูตรแคลอรีต่ำ หรือสูตรไม่มีน้ำตาล จะช่วยให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า หรือเมื่อดื่มกาแฟเย็นแล้วควรลดอาหารหวาน มัน และของทอด ในมื้ออาหารหลักลง ซึ่งผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอาจเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียม จากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเปล่าสะอาด 8 – 10 แก้วต่อวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวสรุป
“หมอนรองกระดูกยื่น” กับ “กระดูกสันหลังเคลื่อน” ปวดหลังเหมือนกัน แต่รักษาต่างกัน