ปักหมุดท่องเที่ยว “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย”
“จากจุดเริ่มต้นเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ กลายเป็นจุดแข็งที่เชื่อมโยงให้ชุมชนปากพูนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเทศกาลล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อยที่เราได้จัดทุกปีนั้น ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ได้รวมวิถีชีวิตชุมชนของเราให้เป็นหนึ่งเดียว” เสียงสะท้อนจาก นายกวี หมั่นถนอม สมาชิกวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวปากพูน เผยให้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนปากพูนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช
เทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญประจำปีที่ได้นำเสนอตัวตนที่แตกต่าง พร้อมสะท้อนวิถีชีวิตที่แข็งแกร่งของชุมชนปากพูนได้อย่างแท้จริง
อดีตปากพูนเป็นเพียงทางผ่าน
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า ตำบลปากพูนในวันนี้ ในอดีตเป็นเพียงแค่“ทางผ่าน” แม้จะอยู่ใกล้สนามบินนครศรีธรรมราช
แม้จะอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม แต่จากการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปในช่วงหลายสิบปีทำให้เสน่ห์ของตำบลปากพูนที่โอบล้อมด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติเริ่มจางหายไป
เพื่อฟื้นเสน่ห์ของชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังโสภณ จำกัด จึงได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการพัฒนาโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 อย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกบทบาทของชุมชนปากพูนจาก “ทางผ่าน” สู่หมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือน
“ถึงแม้ผมจะไม่ใช่คนปากพูน แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่ปากพูนมานานและได้เห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่านตั้งแต่สมัยที่เริ่มเสื่อมโทรม จนถึงวันที่เชฟรอนและเทศบาลได้เข้ามาทำโครงการเพื่อปลูกป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์อีกครั้ง ทำให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้าน ที่กำลังทำศูนย์เรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว สวนแม่ทองพริ้ง ก็ต้องพัฒนาสินค้าพื้นบ้านให้ดีขึ้น ผ่านนวัตกรรมวิจัยต่างๆ ให้คนที่มาซื้อเชื่อถือผลิตภัณฑ์ และสิ่งเหล่านี้ได้ต่อเติมรากฐานที่แข็งแกร่งหล่อเลี้ยงรายได้ให้ชุมชนชาวปากพูนของเรา ” กวี หมั่นถนอม สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวปากพูน กล่าว
เทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย”
เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเทศบาลเมืองปากพูน จัดร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านการสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน
งานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “วิถีชาวเล เสน่ห์ปากพูน” ซึ่งได้รวบรวม “เสน่ห์” ที่โดดเด่นของการท่องเที่ยวตำบลปากพูนไว้ด้วยกัน อาทิ
ล่องเรือชมอุโมงค์อเมซอนที่โอบล้อมด้วยป่าโกงกาง
เวิร์กช็อปการทำเหนียวห่อกล้วย สูตรโรงเหนียวยายศรี
ร้อยลูกปัดมโนราห์เป็นพวงกุญแจ
เรียนรู้วิธีทำน้ำตาลแท้ๆ อาชีพดั้งเดิมของชาวปากพูน
สุดท้ายคือ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำบริเวณสามแยกปากอ่าว
ทั้งหมดนี้คือ การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ให้ไปด้วยกันอย่างลงตัว
พรทิพย์ ชุนเชย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองปากพูน บอกว่า เรามุ่งอนุรักษ์ธรรมชาติเต็มรูปแบบ ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ของปากพูนมีเสน่ห์ที่น่าสนใจและมีกลิ่นอายวิถีชีวิตดั้งเดิมที่หาดูได้ยาก
หลังจากทางโครงการฯ ได้เริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้แต่ละวันเรารับนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น ซึ่งเราออกเรือพานักท่องเที่ยวไปชมอุโมงค์สัปดาห์หนึ่งได้มากถึง 15 ลำ ในช่วงเทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” ที่เพิ่งจัดขึ้นนี้ เราก็ได้พานักท่องเที่ยวไปดูหิ่งห้อยถึงคืนละ 40-50 ลำ
เชฟรอนช่วยต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน
พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกว่า เป็นความมุ่งมั่นของเชฟรอน เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราช เปรียบเสมือนเป็นบ้านอีกหลังของเชฟรอน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ได้มอบเงินสนับสนุนพื้นที่ชุมชนปากพูนภายใต้ภายใต้โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยงบประมาณรวม4.7 ล้านบาท
สำหรับเทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” เป็นการต่อยอดความสำเร็จครั้งใหญ่ ที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อุโมงค์อเมซอน โบราณสถาน และผลิตภัณฑ์เด่นในตำบลปากพูนให้เป็นที่รู้จักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน
ปากพูน โมเดลท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
กว่าตำบลปากพูนจะพัฒนามาเป็นโมเดลต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชน ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย ได้ยึดโยงหมุดหมายเดียวกันคือ การได้เห็น“บ้าน” อันอุดมสมบูรณ์ สามารถหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่จากรุ่นสู่รุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน
สนใจสัมผัสวิถีการท่องเที่ยวของชุมชนปากพูน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางเพจเฟซบุ๊ค ท่องเที่ยวโดยชุมชนปากพูน หรือติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-234-1650