เศรษฐกิจ

สกพอ. และ เอชเอสบีซีร่วมมือดูดนักลงทุนเข้าพื้นที่  EEC

1 มีนาคม 2568

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ทั้งสองหน่วยงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อดึงดูดการลงทุนระดับโลก สู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

จุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยจะเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงนักลงทุนระดับโลก ผ่านเครือข่ายระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซีใน 58 ประเทศ

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน สกพอ.ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจริงในพื้นที่รวม 5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี

เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และอุตสาหกรรมบริการ

แม้พื้นที่ EEC แพงแต่ได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี  ยอมรับว่า ราคาที่ดินในพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แพง  แต่มีข้อได้เปรียบด้านแรงงานฝีมือ ความรู้  ส่วนใหญ่แรงงานอยากมาทำงานที่ประเทศไทย  ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ความร่วมมือกับธนาคารเอชเอสบีซี   จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนการลงทุนจากทั่วโลก และเชื่อมโยงอีอีซี กับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ เพราะภายใต้การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรจะร่วมมือในการแสวงหานักลงทุนที่มีศักยภาพ อำนวยความสะดวกในการลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ และอาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซี เพื่อปลดล็อคโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ โดยในปี 2568 ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จะให้การสนับสนุนในกิจกรรมโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซีในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิจีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น

เชื่อมโยงนักลงทุนผ่านเครือข่ายธนาคาร

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า  ประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และอีโคซิสเต็มในด้านการผลิตที่ครอบคลุม

ในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติเป็นมูลค่ารวมราว 7.27 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติยอดการลงทุนสูงสุดในรอบ 20 ปี และอีอีซีถือเป็นศูนย์กลางของการเติบโตนี้ โดย78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี (ราว 5.68 แสนล้านบาท)สะท้อนถึงบทบาทของอีอีซีในฐานะแรงขับเคลื่อนหลักของกลยุทธ์การลงทุนของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (2.56 แสนล้านบาท) อุตสาหกรรมดิจิทัล(9.5 หมื่นล้านบาท) และยานยนต์แห่งอนาคต (8.7 หมื่นล้านบาท)

ธนาคารเอชเอสบีซี เห็นแนวโน้มความสนใจของธุรกิจจีน ขยายกิจการสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง จากจำนวนขององค์กรธุรกิจจีนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในอาเซียนผ่านเครือข่ายของธนาคารในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อนหน้า

ไทยจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากจีน

แม้การลงทุนจากประเทศจีนจะครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีมูลค่ารวมนับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงไตรมาสสามปี 2567 ราว2.75 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากมีแหล่งพลังงานที่มั่นคงเพียงพอ และมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เอชเอสบีซี จะอาศัยความเชี่ยวชาญของธนาคารฯ  เชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศ เข้ามาสนับสนุน สกพอ. ในการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลก ผ่านการนำเสนอโซลูชันด้านการเงินครบวงจร อำนวยความสะดวกในการเริ่มดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน  กระตุ้นการจ้างงานทักษะสูง และบรรลุเป้าหมายในการเสริมศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ตลอดจนเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคต” นายกัมบา กล่าว

ผู้เขียน
ทีม iJournalist

More read
  • เทคโนโลยี
  • 2 เมษายน 2568

ไขข้อข้องใจโรคไส้เลื่อน

Tags

  • ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี
  • นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรก...