ถึงเวลาที่”ก้อนหิน”ขอเปล่งแสง
กสศ.หรือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปรียบนักศึกษาผู้ที่ได้รับทุนจากโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ว่าเป็นดั่ง”ก้อนหิน”ที่อยู่ในลำธาร จะเปล่งประกายส่องแสงออกมาได้ก็ต่อเมื่อมีผู้หยิบก้อนหินนั้นขึ้นมาปัดดินปัดเลนตมออกไป
เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ไปร่วมงานปัจฉิมนิเทศ ”สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง “ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
งานนี้ จัดพร้อมกัน 8 จังหวัดทั่วประเทศ
นักศึกษาทุน กสศ. ที่จบการศึกษาปีนี้ มีจำนวน 2,154 คน จากสถาบันการศึกษาใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาทุนรุ่น 1 เรียนหลักสูตร 5 ปี จบการศึกษา 793 คนเป็นปีแรก ที่เหลือเป็นผู้จบหลักสูตร ปวช.ปวส. ผู้ช่วยพยาบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์
จากการสำรวจข้อมูลผู้จบการศึกษาปีนี้ พบว่า กว่า 50% ต้องการไปทำงาน บางส่วนก็มีงานทำแล้ว อีก 27% อยากเรียนต่อในระดับปริญญา และอีก 13% ต้องการเป็นผู้ประกอบการ
กสศ.จัดกิจกรรมนี้เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา เตรียมความพร้อม สร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมโอกาสการมีงานทำในรุ่นต่อๆไป
ตลอด 2 วัน กิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการคิดและออกแบบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ล้วนแต่สร้างความสุข เปิดโลกใหม่ๆ ให้กับครู อาจารย์ และน้อง ๆ
ทั้งการรับฟังคำแนะนำจากนายจ้างระดับประเทศเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน ดูผลงานของเพื่อนๆ นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ กิจกรรม Job Fair กิจกรรมจิตอาสา เพื่อเติมทักษะทางสังคมในด้านต่างๆ รวมถึงคุณธรรม จริยธรรม ให้กับน้องๆ
“สองวันนี้ ผมร้องไห้ทุกวันเลย ไม่ได้เสียใจนะครับ แต่ ดีใจที่ได้ทุน กสศ.” น้องเบล อภินันท์ มูลจันดา นักศึกษา สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ นั่งเช็ดน้ำตาในห้องกิจกรรมรีบหันมาบอกพร้อมกับรอยยิ้มสดชื่น
อภินันท์ เป็นนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนขึ้นมาพูดในช่วง Youth Talk ของเวทีอุบลราชธานี
คิดบวกแล้วได้ไปต่อ
เบล อภินันท์ อาศัยอยู่กับย่าวัย 75 ปี พ่อแม่อยู่ที่จังหวัดอื่น ตอนเรียนชั้นประถมศึกษา จะปั่นจักรยานจากโรงเรียนกลับมากินข้าวเที่ยงที่บ้านทุกวัน เพราะไม่มีเงิน แต่ทำให้มีความสุขมาก เพราะได้กลับมากินข้าวกับย่า ความฝันของเบล คือได้ทำงานประจำ และทำบิวตี้บล็อกเกอร์ควบคู่กันไป
” ถ้าได้ในทำในสิ่งที่ชอบ ก็จะมีกำลังใจ ทำแล้วมีความสุข ขอบคุณ กสศ.ที่มอบโอกาส มองเห็นความสามารถของผม แม้จะไม่ใช่คนเรียนเก่งที่สุด แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะถ้าไม่มี กสศ.ก็ไม่มีผมในวันนี้“
อีกสองคน ที่ได้ขึ้นเวที ช่วง Youth Talk คือ กุลธิดา อ้อยแขม “การ์ตูน” นักศึกษาผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน การ์ตูนและพี่น้อง มาอาศัยอยู่ย่า ต้องช่วยเหลือตัวเองหาเงินไปเรียน ย่าสอนให้ขายขนม ขายของ ต้องเดินไปโรงเรียนจนกระทั่งจบม.3 ช่วงนั้น อาจารย์จะช่วยเหลือหาข้าวมื้อเที่ยงให้กิน ถ้าเป็นวันหยุดก็จะไปทำงานพาร์ทไทม์หาเงินช่วยทางบ้าน
“เมื่อเรียนจบ จะตั้งใจประกอบอาชีพ ซื่อสัตย์ในหน้าที่ จะช่วยเหลือผู้คนตามความสามารถของตัวเอง จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ให้เป็นคนมีคุณภาพ สมกับที่ กสศ.ช่วยสนับสนุน สิ่งที่อยากตอบแทน อยากส่งมอบสิ่งดีๆ ให้คนอื่น ให้รุ่นน้องที่ไม่มีโอกาส ได้พบเจอเส้นทางดีๆ เหมือนที่ทำให้หนูมีวันนี้ ขอบคุณ กสศ.ที่มองเห็นหนู ในวันนี้ ได้เดินในเส้นทางที่มีอนาคตที่ชัดเจน ”
อีกคนคือ ดรีม ปวรรัตน์ ดีพิสุทธิ์ สาขาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ เพราะแม่มีครอบครัวใหม่ ดรีมจึงอาศัยอยู่กับตายายในชนบท ซึ่งเป็นเกษตรกร ทั้งตาและยายส่งเสริมให้เรียนหนังสือ จนกระทั่งจบ ม.3 ดรีมสอบติด ม.ปลาย ในโรงเรียนประจำอำเภอชื่อดัง แต่ค่าเทอมแพง คุณครูจึงแนะนำให้ไปเรียน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ตายายก็เห็นด้วย พอใกล้จะจบ ปวช.ปี 3 อาจารย์ได้แนะนำให้รู้จักทุน กศส. พอรู้ว่าได้ทุน หนูดีใจมาก เพราะคิดว่า ชีวิตนี้ไปได้แค่ปวช.
“ตอนเรียนเป็นหลักสูตร ทวิภาคี ต้องฝึกงานและเรียนควบคู่กันไป เรียนหนักมาก แต่หนูได้ฝึกงานที่ฟาร์ม ทำให้มีความฝันอยากเรียนจบปริญญาตรี อยากเป็นเจ้าของฟาร์ม แต่ไม่ใช่แค่ฟาร์มเลี้ยงวัว แต่ต้องเป็นฟาร์มที่มีครบวงจร ให้น้องๆ ที่เรียนสัตวศาสตร์ ได้เข้าไปเรียนรู้ด้านการจัดการ การสุขาภิบาล ตอนนี้ไปจดทะเบียนฟาร์มไว้แล้ว ขอบคุณกสศ.ที่ทำให้หนูได้เรียนหนังสือ มีอาชีพ มีสังคมที่ดีมากขึ้น”
สองนักศึกษาทุนฝาแฝดนักลงทุนมือทอง
กูอัสมาดีซัม อัครเสณีย์ และกูอัสมาวีซัม อัครเสณีย์ สองพี่น้องฝาแฝด นักศึกษาทุนระดับ ปวส. วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี ทั้งดี และวี มีความฝันชัดเจนว่า จะไปเรียนต่อ อยากรับราชการและทำการเกษตรที่ร่ำเรียนมาเป็นอาชีพที่สองควบคู่กันไป
กูอัสมาดีซัม อัครเสณีย์ หรือดี แฝดพี่ เรียนสาขาแปรรูปสัตว์น้ำ วางแผนไว้ว่า จะไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีสาขาอุตสาหกรรมเกษตร
กูอัสมาวีซัม อัครเสณีย์ หรือ วี แฝดน้อง เรียนสาขาเกษตรศาสตร์ จะไปต่อสาขาสัตวบาล
จากจุดเริ่มต้นเป็นนักศึกษาทุน กสศ. ช่วงแรกๆ เงินเดือนที่ได้รับระหว่างเรียน ปวส. เดือนละ 7,500 บาท ยังไม่ออก ไม่มีตังค์ แม่ต้องส่งเงินมาให้ใช้สัปดาห์ละ 200 บาท สองคนพี่น้องจึงใช้วิธีซื้อมาม่าตุนไว้ จนกระทั่งเงินเดือนงวดแรกจาก กสศ.ส่งมาให้ตกเบิกย้อนหลังถึง 3 เดือน ทั้งสองคนจึงนำเงินก้อนนี้ไปซื้อวัวมาเลี้ยง พอโตเต็มที่ก็ขาย ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ระหว่างรอให้วัวโต ก็เลี้ยงแพะ รีดนมไปขาย และเลี้ยงไก่ ก็มีรายได้เข้ามาเสริม
สองหนุ่มฝาแฝดยอมรับว่า ตอนที่ได้เงินตกเบิก เห็นเพื่อนๆ เอาเงินไปซื้อ โทรศัพท์ ซื้อมอเตอร์ไซค์ก็อยากได้เหมือนกัน แต่ตัดสินใจซื้อวัวมาเลี้ยงดีกว่า เพราะรู้ตัวว่า เก็บเงินสดไม่ได้ กลัวนำไปใช้
คลิปวี เล่าเรื่องเลี้ยงวัว https://www.facebook.com/share/v/yE2zgZh3Ky4hevWx/?mibextid=hxI7PO&startTimeMs=63000
จนกระทั่งถึงวันนี้ วันที่จบการศึกษาระดับ ปวส. ทั้งดี และวี มีทรัพย์สินเป็นวัว แพะ และไก่ และที่ดินอีก 9 ไร่ ที่ใช้เงินจากขายวัว รวมมูลค่ากว่าหนึ่งล้านบาทแล้ว
ส่งต่อแรงบันดาลใจ
ที่เล่ามาเป็นแค่ตัวอย่างความสำเร็จของน้องๆ นักศึกษาทุน ที่ทำให้ครอบครัว ครู อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ กสศ.หัวใจพองฟู น้องๆ คือความภาคภูมิใจของทุกคน เป็นก้อนหินที่พร้อมจะเปล่งแสงออกมาอย่างสวยงาม เป็นอนาคตของชาติ
ระหว่างที่บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ เพลง เพื่อสิ่งที่ฝัน…ฉันภูมิใจ ของแสตมป์ ที่แต่งให้กับโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ก็แว่วขึ้นมาในหัวทั้งวัน
”แม้ทางที่เลือกเดิน ต้องเผชิญเรื่องยากสักเท่าไร โอกาสที่ได้รับ ฉันจะทำให้ดีที่สุด “
สิ่งที่น้องๆ อาจจะไม่รู้ก็คือ เรื่องราวของน้องเป็นแรงบันดาลใจ เสริมพลังทำให้พวกพี่ ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งดีๆ รับใช้สังคมต่อไป
ข้อมูลทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง https://www.eef.or.th/fund/career-capital/
ช่องทางบริจาคเงิน เพื่อการศึกษา https://www.eef.or.th/donate/
บรรณาธิการเทคโนโลยี