Uncategorized

บอดี้สูท ‘เรเชล’ นวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย

26 เมษายน 2566

มีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าการเคลื่อนไหวทาง “กายภาพของมนุษย์” นั้นถือเป็นสิ่งที่ “สร้างไม่ได้” ทำได้แต่เพียงส่งเสริม รักษา และฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างกายแก่ตัวลง มวลของกล้ามเนื้อจะลดลง ควบคู่กับปัญหาด้านสายตา รวมถึงระบบประสาท การตอบสนอง การรับรู้ต่างๆ ที่ช้าลง สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการทรงตัวของร่างกายผู้สูงอายุ ทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม เกิดอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

จากปัญหาดังกล่าว จำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้ผู้สูงอายุ “คงความแข็งแรง” ของร่างกายไว้ให้ยาวนานที่สุด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีแรงเคลื่อนไหว สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก  และที่สำคัญคือลดอัตราการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ  รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้อีกด้วย

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้ให้การสนับสนุน การพัฒนานวัตกรรมวิจัย ชุดเอ็กโซสูท (Exosuit) “เรเชล (Rachel)” ชุดบอดี้สูทที่เป็นตัวช่วยพยุงกล้ามเนื้อให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงานวิจัยโดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่นำโดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ
ผู้อำนวยกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค

ชุดบอดี้สูท “เรเชล” จัดทำขึ้นมาสำหรับผู้สูงอายุที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้โดยเฉพาะ ซึ่งความพิเศษของชุดนี้ คือจะช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระด้วยการมี “กล้ามเนื้อจำลอง” จากพลังงานลมที่ติดตั้งอยู่ในชุด เพื่อทำหน้าที่ “ซัพพอร์ต” หรือเสริมแรงในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อจำลองที่อยู่ในชุด “เรเชล” เป็นเทคโนโลยีที่จำลองการทำงานของกล้ามเนื้อของคน เพื่อให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นยืน เดินขึ้นบันได หรือแม้แต่กรณีการยกของหนัก ก็จะมีกล้ามเนื้อจำลองช่วยเสริมแรงพยุง ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอาการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและกระดูก อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะต้องรักษามวลกล้ามเนื้อและกระดูกเอาไว้

แม้เทคโนโลยีบอดี้สูทในลักษณะเดียวกันนี้จะมีอยู่ในต่างประเทศ แต่มีหลายองค์ประกอบที่อาจไม่ได้ตอบโจทย์คนไทย ไม่ว่าจะเป็น ขนาด รูปทรง หรือความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ จึงเป็นโจทย์ให้ทีมวิจัยต้องพัฒนาขึ้นมาเองเป็นนวัตกรรมของคนไทยโดยเฉพาะ

ชุดบอดี้สูท “เรเชล” ที่ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับคนไทยนั้น ในระยะแรกของการวิจัย เรียกว่ารุ่น แอคทีฟ (Active) โดยเป็นรุ่นที่มีการใช้ระบบพลังงานลมเพื่อสร้างกล้ามเนื้อจำลองทำให้ชุดมีน้ำหนักมาก ต่อมา สวรส. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและต่อยอดการวิจัยในรุ่นชื่อว่า ออลเดย์ (All-day) โดยพัฒนานวัตกรรมกล้ามเนื้อจำลองด้วยการตัดเย็บและเลือกวัสดุผ้าที่มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงคุณสมบัติในการทำงาน มีขนาดเหมาะสม สามารถสวมใส่เสื้อผ้าทับได้ และสวมใส่ได้ตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ  คล่องตัว ตลอดจนตอบโจทย์การใช้งานจริงในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

รวมทั้งในชุดเรเชล รุ่นออลเดย์นี้ มีการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะส่งข้อมูลมายังแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้สวมใส่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การยกของ การเดิน ฯลฯ ซึ่งระบบจะแจ้งเตือนหากมีการใช้ท่าทางที่ไม่เหมาะสม ผิดไปจากธรรมชาติ ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น เป็นเวลานานขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ ลดภาวะพึ่งพิง และยังเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรง

ความพิเศษของ ชุดบอดี้สูท “เรเชล” นี้ไม่ได้ถูกออกแบบบนโจทย์ของการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้นำมุมของแฟชั่นดีไซน์มาใช้ในการออกแบบพัฒนาชิ้นงานโดย อ.กนกลักษณ์ ดูการณ์ ผู้อำนวยการศูนย์อบรมแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรม แพ็ทเทิร์นไอที สถาบันพัฒนาแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรมและออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูป

“หลังได้รับโจทย์มาแล้วเราได้พยายามมองหาตัวเลือกวัตถุดิบผ้าแต่ละชนิด ซึ่งเราใช้ผ้าแบบเดียวไม่ได้ เพราะผ้าแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ในการนำมาใช้งานให้เหมาะสมกับการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อในแต่ละส่วน ขณะเดียวกันก็ต้องผสานเข้ากับอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งภายในชุดให้ได้อย่างลงตัว สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายในการออกแบบ เพราะถ้าเราต้องการให้คนสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริง ก็ต้องมีแรงดึงดูด ทำให้เขาเกิดความอยากได้อยากใช้ เรื่องของอารมณ์และความสวยงามจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้”

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ระบุถึงเป้าหมายต่อไปของ สวรส. คือการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ ให้ได้รับการประเมินความคุ้มค่า และเข้าไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้ ผ่านการบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และจะทำงานคู่ขนานไปกับหน่วยงานเครือข่าย อาทิ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อการสนับสนุนสู่การผลิตนวัตกรรมออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง และเสริมศักยภาพในแง่ของอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากนวัตกรรมลักษณะนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์สุขภาวะคนกลุ่มอื่นๆ ได้อีกด้วย