เศรษฐกิจ

ฟุตบอลโลก 2022 ลุ้นถึงช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

17 พฤศจิกายน 2565

ฟุตบอลโลก 2022 ลุ้นถึงช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

สุดท้ายก็เจ็บจริง

บ้างก็ว่า ปัญหามาจากกฎ #MustHave ของ กสทช.ที่บังคับให้ #ฟุตบอลโลก เป็น 1 ใน 7 รายการกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรี

บ้างก็ว่า เป็นเพราะการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์เป็นไปอย่างล่าช้า

บ้างก็ว่า ค่าลิขสิทธิ์ที่แสนแพง

สรุปคือหลายสาเหตุประกอบกันทำให้คอบอลชาวไทยต้องลุ้นกันจนถึงช่วง #ทดเวลาบาดเจ็บ ทีเดียว กว่าจะได้ดู #ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

ปัญหาเดิม ตั้งแต่ 8 ปีก่อน

   จะว่าไปแล้ว ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเคยเจอ เพียงแต่เราไม่เคยนำอดีตมาเป็นบทเรียนและเตรียมการป้องกันแก้ไขไว้แต่เนิ่น

   กฎ Must Have ที่หลายคนบอกว่าเป็นความปรารถนาดีของ กสทช.ที่อยากให้คนไทยได้ชมรายการกีฬาสำคัญกันฟรี เคยก่อปัญหาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2014 เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ทำให้บริษัทอาร์เอส ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดครั้งนั้นถึงขั้นยื่นฟ้องศาลปกครองจนชนะคดีไม่ต้องใช้กฎดังกล่าว แต่สุดท้ายแฟนบอลชาวไทยก็ได้ดูฟรี โดย คสช.สั่งให้ กสทช.แก้ปัญหาด้วยการควักกระเป๋าจ่ายชดเชยให้อาร์เอส

   มาถึงฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย การคลี่คลายปมเรื่องดูฟรีตามกฎ Must Have ทำท่าจะดีหน่อย แต่กว่าจะลงตัวก็ต้องแอบลุ้นกันเหนื่อยพอสมควร เพราะทีแรกรัฐบาลจะให้ เครือข่ายโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูล (ที่ไม่ใช่ของเจ๊ติ๋ม“) ไปซื้อลิขสิทธิ์ แต่เอาเข้าจริงพอเจอค่าลิขสิทธิ์แพงกว่า 1,000 ล้านบาท ทีวีพูลก็ลังเลไม่กล้าซื้อ

   จนเมื่อ ลุงป้อม พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับเอกชน 9 รายมาเป็นสปอนเซอร์ได้สำเร็จ และต้องไปขอให้บริษัททรูวิชั่นส์เป็นตัวแทนไปเซ็นสัญญา แล้วมาเฉลี่ยเวลาโฆษณากันตามสัดส่วนที่สปอนเซอร์แต่ละรายจ่าย

จบแต่เจ็บไปตาม กัน

   หลังจบทัวร์นาเมนต์ที่รัสเซีย สำนักงาน กสทช.ได้ออกรายงานประเมินมูลค่ารายได้จากการโฆษณาตลอดช่วงเวลาถ่ายทอดสดทั้ง 64 แมทช์ พบว่า มีเม็ดเงินโฆษณารวมประมาณ 257 ล้านบาท เทียบกับค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายไปประมาณ 1,141 ล้านบาท บวกค่าดำเนินการทางเทคนิคอีกราว 260 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับสปอนเซอร์ทั้ง 9 รายที่มาร่วมลงขันต้องเฉลี่ยผลขาดทุนอ่วมไปตาม กัน

   สะท้อนให้เห็นว่าทั้งกฎ Must Have ค่าลิขสิทธิ์ที่แพงหูฉี่ และการเจรจาที่ล่าช้า ล้วนเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกจน

มาถึงฟุตบอลโลก 2022 แต่คราวนี้บารมีลุงป้อมคงไม่ขลังพอที่จะไปหักคอสปอนเซอร์ที่เคยเจ็บตัวได้เหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน

สิ่งที่หายไปจากฟุตบอลโลก

   ในแง่เศรษฐกิจและธุรกิจ ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มในช่วงที่มีฟุตบอลโลก 2022 ระหว่าง 20 .. – 18 ..นี้ว่าน่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเฉพาะในระบบเศรษฐกิจราว 18,500 ล้านบาท ไม่รวมเงินนอกระบบโดยเฉพาะจากการพนันอีกกว่า 57,000 ล้านบาท ทำให้มองว่าหากต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกว่า 1,000 ล้านบาทก็ยังถือว่าคุ้มค่า เพราะหากไม่มีการถ่ายทอดสด เม็ดเงินนี้จะหายไปราว 5,000-10,000 ล้านบาททีเดียว !!

   อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไม่ได้ประเมินไว้ คือปัญหาการติดต่อเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ที่ล่าช้าจนเกิดความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยกร่อยลงไปหรือไม่ เพียงใด ?!?

   และเมื่อไทยได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างไร้ข้อกังขา คือ ผลขาดทุนของบรรดาเอกชนที่มาร่วมลงขันเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งจะมากหรือน้อยกว่าตัวเลขที่สำนักงาน กสทช.เคยรายงานไว้เมื่อ 4 ปีก่อน คงต้องตามดูต่อไป

 

  อีกสิ่งหนึ่งที่จะหายไปจากฟุตบอลโลกครั้งนี้ คือคะแนนนิยมทางการเมือง จากที่รัฐบาลเคยใช้เป็นผลงานคืนความสุขให้ประชาชน ก็คงใช้ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะนอกจากข้อกังขาเรื่องที่มาของเงินที่นำไปจ่ายค่าลิขสิทธิ์แล้ว การดำเนินงานในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมายังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขลุกขลักมากมายที่ควรจะได้รับการป้องกันแก้ไขตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ.

ข้อมูลเคียงข่าว :

  • ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 มีทีมเข้าร่วมแข่งขันในรอบสุดท้าย จำนวน 32 ทีม เป็นครั้งแรกที่ประเทศในแถบตะวันออกกลางเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เป็นครั้งแรกที่ต้องจัดแข่งขันในช่วงฤดูหนาว จากปกติจะแข่งในฤดูร้อนช่วงเดือนพฤษภาคมมิถุนายน หรือกรกฎาคม
  • ประเทศเจ้าภาพกาตาร์ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในการใช้แรงงานก่อสร้างสนามเตรียมการแข่งขัน และกฎระเบียบบางอย่างที่เข้มงวด เช่น การแสดงออกของกลุ่มLGBTQ และข้อจำกัดในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เบียร์ Budweiser เป็น 1 ในสปอนเซอร์หลักของทัวร์นาเมนต์นี้)
  • ฟีฟ่า เคยคาดการณ์ว่าฟุตบอลโลก 2022 จะมีจำนวนผู้ชมทั่วโลกราว 5,000 ล้านคน มากกว่าจำนวนผู้ชมฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ที่มีราว 4,000 ล้านคน แต่ถ้าประเทศไทยไม่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด จำนวนผู้ชมก็จะน้อยลงไปหลายสิบล้านคน.

   

ขอบคุณภาพจาก fifa.com