ข่าวทั่วไป

พม.ขยายผลโครงการฝึกอาชีพผู้พิการหลังประสบความสำเร็จจาก “HigherEd for PWD” ของมจธ.

5 มีนาคม 2568

โครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. HigherEd for PWD ระยะที่ 1 เป็นโครงการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่การประกอบอาชีพในตลาดแรงงานจริง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 5 แห่ง ประกอบด้วย  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี

ปิดโครงการระยะที่ 1   ต่อยอด-ขยายผลความสำเร็จ

งานปิดโครงการฯ ระยะ ที่ 1  จัดที่อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) มจธ. บางมด กรุงเทพฯ   นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้กล่าวในงานและให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า  โครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. HigherEd for PWD   ซึ่ง มจธ.มีประสบการณ์ทำงานฝึกอาชีพผู้พิการมานานถึง 10 ปี   เป็นโครงการที่ทำให้รู้สึกดีใจที่ทำให้สังคมมองเห็นศักยภาพของผู้พิการมากขึ้น

“ในสภาวะของประเทศที่เด็กเกิดใหม่น้อยลงมาก กระทรวงพม.และเครือข่าย กำลังเร่งสร้างกำลังแรงงาน คุณภาพให้สังคมไทย    เปรียบเหมือนได้เงินหมื่นตลอดชีพ เป็นรายได้จากการทำงาน  ไม่ต้องออกนอกภูมิลำเนา โครงการระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มเดือนมีนาคม 2567  มีผู้พิการมีงานทำ 252 คน ขอบคุณสถานประกอบการที่กล้าหาญรับผู้พิการเข้าทำงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม.อยากเห็นผู้พิการเข้าถึงสิ่งต่างๆ มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ ซึ่งโครงการนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า เส้นบางระหว่างผู้พิการและคนปกติค่อยๆ จางไป  เพราะงานบางอย่างผู้พิการมีศักยภาพมากกว่าคนปกติ โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ

การทำงานโครงการระยะ 2 กระทรวง พม.จะต่อยอดความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นการทำงานโดยมี โครงการของ พม.และมจธ.เป็นโมเดลต้นแบบ   มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

วอนภาครัฐรับผู้พิการเข้าทำงานตามโควต้า

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   ระบุด้วยว่า ภาคเอกชนรับผู้พิการเข้าทำงานทั้ง มาตรา 33 และ 35 แต่ภาครัฐ มีเพียง 3 กระทรวงที่รับผู้พิการเข้าทำงานครบตามโควต้า หนึ่งในนั้นคือกระทรวง พม.  จึงอยากขอร้องให้กระทรวงต่างๆ  พิจารณารับผู้พิการเข้าทำงาน

เปิดโมเดล 6 ขั้นตอน พัฒนาอาชีพผู้พิการของ มจธ.

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพคนพิการของ “โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ.” ที่ มจธ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557   ขยายผลผ่าน 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและฝึกงานที่ออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน (Demand-Driven) ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละแห่ง

“จากเดิมที่ มจธ. ดำเนินโครงการฝึกอาชีพให้คนพิการได้เฉลี่ยรุ่นละ 50 คน แต่เมื่อเริ่มโครงการ HigherEd for PWD ในปีแรก สามารถขยายการอบรมให้คนพิการจากทั่วประเทศได้ถึง 300 คน นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคนพิการมากขึ้นแล้ว ยังทำให้สถาบันและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจ โมเดล 6 ขั้นตอน ของการฝึกอาชีพคนพิการ ซึ่ง มจธ. ใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนา และสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยและความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่”

ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. หัวหน้าโครงการฯ โมเดลหลัก 6 ขั้นตอน ที่ มจธ. ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการฯ ได้มีการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง เพื่อจัดทำและฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนพิการในพื้นที่ของตนเอง ประกอบด้วย

(1) การหารือกับสถานประกอบการเพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเหมาะสมกับคนพิการ

(2) การรับสมัครและคัดเลือกคนพิการตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร

(3) การฝึกอบรมและฝึกงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน ครอบคลุมทั้งทักษะอาชีพ ทักษะการทำงานและการใช้ชีวิต และสร้างประสบการณ์ทำงานจริง

(4) การสนับสนุนการจ้างงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน

(5) ระบบพี่เลี้ยงเพื่อติดตามและให้คำแนะนำ

(6) การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ผลกระทบ และประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน

ซึ่งมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่งนำโมเดลนี้ ไปปรับใช้กับหลักสูตรของตนเองได้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

ผลลัพธ์นำไปสู่อาชีพและรายได้ ไม่เป็นภาระใคร

โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนพิการได้เลือกเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง ผ่านหลักสูตร 2 แนวทางหลัก ได้แก่ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในสถานประกอบการ

หลักสูตรอาชีพอิสระ สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้ด้วยตนเอง เช่น หลักสูตรการทำดอกไม้จันทน์ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ไม่ได้สอนแค่ผลิต แต่สอนวิธีจำหน่ายและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

ส่วน มจธ. มีบทบาทเป็น ‘พี่เลี้ยง’ คอยสนับสนุนและช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถหางานหรือเริ่มต้นอาชีพของตัวเองได้จริง

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการไม่ได้พิจารณาเพียงจำนวนผู้เข้าอบรม แต่ให้ความสำคัญกับรายได้ที่เกิดจากการจ้างงานและการประกอบอาชีพอิสระ

ผลลัพธ์จากรุ่นแรกที่มีผู้เข้าร่วม 300 คน พบว่า 84% สามารถประกอบอาชีพได้จริง ได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการตามมาตรา 33 จำนวน 9 คน ทำงานภายใต้เงื่อนไขมาตรา 35 จำนวน 31 คน และอีก 212 คนประกอบอาชีพอิสระ โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเอง

ก้าวต่อไปขยายผลในระดับประเทศ

กระทรวง พม. กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการนำร่องการสนับสนุนให้สถานศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนพิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ระยะที่ 2  เพื่อเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างเป็นระบบ สร้างระบบฝึกอบรมที่เข้าถึงง่าย รองรับความต้องการที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้คนพิการได้พัฒนาทักษะ มีงานทำ และมีอาชีพที่มั่นคง ที่สำคัญ

“ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือระยะสั้น แต่เป็นการวางรากฐานให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเท่าเทียม และมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวทาง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐมนตรี กระทรวง พม. และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย”

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read
  • เทคโนโลยี
  • 2 เมษายน 2568

ไขข้อข้องใจโรคไส้เลื่อน

Tags

  • จ้างงานคนพิการ
  • นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่น...
  • มจธ.
  • รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.
  • โมเดลฝึกอาชีพให้คนพิการ