สุขภาพ

จอประสาทตาเสื่อม-เบาหวานขึ้นจอตา รู้เท่าทันป้องกันได้

24 สิงหาคม 2565

ทุกวันนี้ปัญหาสายตาที่มีแนวโน้มพบมากขึ้นในประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ พบผู้ป่วยสูงถึง 18,700 คนต่อปี และโรคเบาหวานขึ้นจอตา พบผู้ป่วยสูงถึง 536,700 คนต่อปี  โดยมีสาเหตุมาจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (aged society) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564  ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพของประชากรที่มีอายุเพิ่มขึ้นหนีไม่พ้นเรื่องความเสื่อมของดวงตา ประกอบกับวิถีชีวิตของประชากรวัยทำงานที่อาจเคลื่อนไหวน้อย ชื่นชอบอาหารและเครื่องดื่มรสหวาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดภาวะเบาหวาน

ปัญหาทางสายตาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การเข้าใจปัจจัยเสี่ยง เฝ้าระวังสัญญาณเตือนเบื้องต้น และการไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ จักษุแพทย์ด้านจอตาและม่านตาอักเสบ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และประธานชมรมต้อกระจกและผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  อาการและผลกระทบจากโรคทั้งโรคจอประสาทตาเสื่อม และ โรคเบาหวานขึ้นจอตา เป็นโรคที่เกิดจากการมีเส้นเลือดที่จอประสาทตาผิดปกติ และทำให้การมองเห็นแย่ลง

โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration หรือ AMD) เกิดจากเส้นเลือดชั้นที่อยู่ใต้จอประสาทตามีความผิดปกติ ทำให้จุดรับภาพจอตาเสื่อม มี 2 ชนิด คือ ชนิดแห้ง (Dry AMD) และชนิดเปียก (Wet AMD or nAMD) โดยชนิดเปียกมักพบในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

โรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Macular Edema หรือ DME) เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในชั้นจอประสาทตามีความผิดปกติ ส่งผลให้จุดรับภาพจอตาบวม โรคนี้พบได้ในทุกช่วงอายุและยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยเบาหวาน

ปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ มีทั้งปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น และปัจจัยที่สามารถปรับได้ เช่น การเลิกสูบบุหรี่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานขึ้นจอตา ประกอบไปด้วย ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน, ระดับน้ำตาลในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, ความอ้วน, หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

ทั้งสองโรคนี้เกิดจากความผิดปกติที่เส้นเลือดในจอประสาทตา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันและอาจเกิดกับตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น โดยที่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณดวงตา และหากสังเกตจากภายนอกก็อาจไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของดวงตา ด้วยเหตุนี้ โรคทางสายตาจึงถือเป็นภัยเงียบ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าการมองเห็นไม่ชัดเป็นผลจากค่าสายตาหรือค่าแว่นที่เปลี่ยนไป

สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและโรคเบาหวานขึ้นจอตา ควรปรับพฤติกรรมและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี ควรใส่แว่นป้องกันอุบัติเหตุหรือแว่นกันแดดเมื่อทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อดวงตาและแสงแดด, งดการขยี้ตาหรือนวดตา, งดการสูบบุหรี่, ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม, ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

“ทุกคนสามารถคัดกรองความผิดปกติทางการมองเห็นด้วยตนเองได้ง่าย ๆ เพียงลองปิดตาทีละข้าง จากนั้นมองขอบประตูหรือกรอบวงกบหน้าต่าง หากเห็นเส้นบิดเบี้ยวหรือจุดพร่ามัว ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที หากอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะได้เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที และลดการสูญเสียการมองเห็น เพราะการมองเห็นที่ชัดเจนเป็นส่วนสำคัญยิ่งกับคุณภาพชีวิต” นพ. ธนาพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

More read

Tags

  • Age-related Macular Degeneration
  • AMD
  • Diabetic Macular Edema
  • DME
  • คัดกรอง
  • นพ.ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์
  • โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
  • โรคเบาหวานขึ้นจอตา