หัวเว่ยมุ่งมั่นเชื่อมต่อดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำ
หัวเว่ยลงนามในพันธสัญญาระดับโลก เข้าร่วมพันธมิตรกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศในความร่วมมือด้านดิจิทัล Partner2Connect เชื่อมต่อกับผู้คนประมาณ 120 ล้านคนในพื้นที่ห่างไกลในกว่า 80 ประเทศภายในปี พ.ศ. 2568
ดร.เหลียง หัว ประธานคณะกรรมการ บริษัทหัวเว่ย ประกาศการตัดสินใจของบริษัทในการประชุมด้านความยั่งยืน ประจำปี พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ “การเชื่อมต่อขั้นสูง สร้างนวัตกรรมที่เกิดแรงขับเคลื่อน(Connectivity+: Innovate for Impact)” โดยการประชุมเสวนาดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนและสํารวจถึงความสามารถของนวัตกรรมไอซีทีในการเพิ่มคุณค่าด้านการเชื่อมต่อทางธุรกิจและสังคม ตลอดจนการขับเคลื่อนความยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ดร. เหลียง ได้ขึ้นกล่าวในงานว่า หัวเว่ยได้สร้างเครือข่ายมากกว่า 1,500 เครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนกว่าสามพันล้านคนในกว่า 170 ประเทศและภูมิภาค
เฉพาะ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(ไม่รวมจีนและอินเดีย) หัวเว่ย เชื่อมต่อผู้คนเกือบ 1.1 พันล้านคนและที่อยู่อาศัยกว่า 293 ล้านหลังใน 20 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 หัวเว่ยมีสถานีฐานมากกว่า 300,000 แห่งในภูมิภาค ส่งผลให้ปัจจุบันมีเครือข่าย 4G ครอบคลุมถึง 97% ของประชากรทั้งหมด และอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่เกิน 110 Mbit/s ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นกว่า 17% จากปีที่แล้ว
หัวเว่ย ได้นำเสนอโซลูชัน AirPON ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำและพื้นที่ห่างไกล โซลูชันดังกล่าวจะช่วยลดการใช้ห้องอุปกรณ์ ลดต้นทุนการติดตั้งใยแก้วนำแสง และการใช้พลังงานของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็รับประกันความรวดเร็วในการติดตั้งเครือข่ายการสื่อสารในพื้นที่
ในประเทศไทย หัวเว่ยให้การสนับสนุนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดําเนินโครงการ USO NET ใช้โซลูชัน AirPON เชื่อมต่อพื้นที่ในชนบท พื้นที่ภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทยที่มีถนนบนภูเขาความยาว 60 กิโลเมตร
นายมัลคอล์ม จอห์นสัน รองเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำทั่วโลก ว่า ปี พ.ศ. 2565 กว่าร้อยละ 95 ของประชากรโลกจะสามารถเข้าถึงบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่จะมีเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ การเชื่อมต่อแบบดิจิทัล (Digital Connectivity) จึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคมและระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงบริการด้วยราคาที่จับต้องได้ รวมถึงได้รับประโยชน์จากคอนเทนต์ต่างๆ ด้วยภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ สิ่งสำคัญคือ ผู้ใช้จะต้องมีทักษะเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการการเชื่อมต่อได้เต็มที่
ไลน์อัพซัมซุงทีวี Neo QLED 8K รุ่นปี 2022 ได้ฉลาก ‘Reducing CO2’