จากกังหันปลากระป๋องสู่กังหันน้ำคีรีวง
รถมอเตอร์ไซค์วิบาก มีกระบุง ตะกร้าสองใบพาดอยู่ท้ายรถ กำลังวิ่งขึ้นวิ่งลงไปตามเส้นทางเล็กๆ บนเขาหลวง บริเวณบ้านคีรีวง อ.ลานสกา นครศรีธรรมราช
แค่นั่งมองการขนส่งผลไม้ซึ่งมีทั้งทุเรียนและมังคุด จากสวนลงมายังจุดรับซื้อหน้าสวนก็เพลิดเพลิน ทึ่งกับการขับรถมอเตอร์ไซค์วิบากที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวบนเส้นทางบนภูเขา
ลำพังแค่ผู้เขียนนั่งรถสองแถวไต่ขึ้นมาก็ลุ้นแทบแย่ เพราะอีกข้างเป็นเหว ธารน้ำและแก่งหิน
เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีน้ำใสไหลรินตลอดปี มีแสงแดด ชาวคีรีวงซึ่งทำสวนผลไม้บนภูเขาสูง ไม่มีไฟฟ้าใช้ ห่างไกลสายส่ง จึงมองหาวิธีเอาพลังงานธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า
กังหันปลากระป๋องคือจุดเริ่มต้น
ส่อง บุญเฉลย ปีนี้วัย 78 ปี หรือลุงส่อง ซึ่งยังคงแข็งแรงปราดเปรียว ขับมอเตอร์ไซค์ได้ ย้อนความหลังเมื่อปี 2541 ให้ฟังว่า ช่วงหน้าผลไม้ ต้องกวนทุเรียน แต่ละเตาใช้เวลานาน 3-4 ชั่วโมงกวนจนมืดค่ำ อยู่บนเขาไม่มีไฟฟ้าใช้ อาศัยไฟจากตะเกียงแก๊ส แต่ก็ดูยาก ทุเรียนก้นกระทะไหม้ทุกที วันหนึ่งมีโอกาสไปเห็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ กลับมาบ้านจึงวานลูกชายเขียนแบบตามคำบอกเล่า แล้วลุงก็ไปเอากระป๋องที่ทิ้งเป็นขยะทั้งกระป๋องผักกาดดอง กระป๋องใส่ปลากระป๋อง มาผูกกับล้อจักรยานเก่า ดัดแปลงเป็นกังหันน้ำ ทำเรื่อย ๆ ปรากฎว่า ได้ไฟใช้ติด 1 หลอด ต่อมาก็มีคนในหมู่บ้านช่วยกันพัฒนาต่อยอด แต่ก็ได้ไฟไม่แตกต่างกัน
“วันหนึ่งมีคนมาบอกว่า นักวิชาการมานอนค้างที่หมู่บ้าน ลุงจึงไปหาแนะนำตัวว่า ผมชื่อ ส่อง บุญเฉลย ทำไฟฟ้าใช้อยู่บนเขา ได้ขนาดนี้ อยากให้อาจารย์ช่วยต่อยอดให้กระทัดรัด ที่ทำอยู่เวลาใช้ไฟพร้อมกันมันจะโหลดมาก อาจารย์ท่านนั้นก็ถามผมว่า จบอะไรมา บอกจบ ป.4 อาจารย์ถึงกับส่ายหน้า บอกไม่ไหว” ลุงส่องเล่าไปหัวเราะไป
แต่อาจารย์คนที่ลุงส่องคุยด้วยก็ไม่ทิ้ง ให้ทีมไปหาข้อมูล เมื่อรู้ว่า ลุงมีลูกจบ ปวส.ก็บอกว่า ให้ลูกมาคุยด้วย ดูแล้วทำได้ไม่ยาก
อาจารย์ท่านนั้น คือ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตอธิการบดี ปัจจุบันท่านเป็นที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
นักวิจัย มจธ.ทำงานตามโจทย์ของชุมชน
จากจุดเริ่มต้นการพูดคุยระหว่างลุงส่องกับ ดร.กฤษณพงศ์ ปี 2547 ก็มีนักวิจัยจาก มจธ.เข้ามารวบรวมข้อมูล เพื่อหาทางทำงานตามโจทย์ของลุงส่อง และสมาชิกกลุ่มกังหันน้ำ
โจทย์ก็คือ ขนำในสวนผลไม้บนภูเขา มีน้ำ แต่ไม่มีไฟฟ้า แม้จะมีกังหันปลากระป๋องที่พัฒนากันมาเรื่อยๆ เอาเครื่องมือมาช่วยวัด ได้ไฟแรงขึ้น แต่ไม่พอใช้ในชีวิตประจำวัน ติดหลอด แต่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้
กังหันน้ำคีรีวง
ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นนักวิจัยหัวหน้าโครงการกังหันน้ำ ซึ่งใช้เวลากว่า 4 ปี เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกังหันของกลุ่มกังหันน้ำ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่ประสิทธิภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศ ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation)” ภายใต้ชื่อ “กังหันน้ำคีรีวง”
“เราเข้าไปร่วมกับคนชุมชนเพื่อพัฒนาและสร้างกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Pico Turbine) ติดตั้ง “กังหันน้ำคีรีวง” กำลังผลิต 1 กิโลวัตต์ ให้กับชุมชนแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552”
จุดเด่นของกังหันน้ำคีรีวงฝีมือไทย
มีขนาดเล็ก ทนทาน ดูแลรักษาง่าย มีค่าประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานน้ำเป็นไฟฟ้าค่อนข้างสูง
หากคิดเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ กังหันน้ำคีรีวงขนาด 1 กิโลวัตต์ มีต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษาตลอด 20 ปี ไม่เกิน 40,000 บาท ใช้เวลาคุ้มทุนในเวลาไม่ถึง 2 ปี เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องปั่นไฟซึ่งตลอด 20 ปี จะมีค่าน้ำมันหลายแสนบาท
แต่ถ้าเป็นความคุ้มค่าด้านสังคม ประโยชน์ใช้สอย ทั้งชุมชนและนักวิจัยเห็นพ้องกันว่าประเมินมูลค่าไม่ได้ ขนำในสวนมีไฟฟ้าใช้ นอกจากประโยชน์ด้านการเกษตรแล้ว ลูกก็ยังมีไฟอ่านหนังสือ ดูทีวีรับข่าวสารได้
ปัจจุบันในพื้นที่ชุมชนคีรีวงและชุมชนรอบเทือกเขาหลวง นครศรีธรรมราช มีกังหันน้ำคีรีวงติดตั้งแล้วกว่า 160 ชุด กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันกว่า 110 กิโลวัตต์
ต่อยอดพลังงานสะอาด
ทีมนักวิจัยอยู่ระหว่างทดลองการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด เป็นการผสมผสานพลังงานโซลาร์เซลล์และพลังงานจากน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ต่อยอดกังหันพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ไปสู่กังหันน้ำผลิตไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ให้จ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น นำไฟฟ้าที่ผลิตได้เก็บไว้ในแบตเตอรี่ นำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์ ใช้ตู้เย็น ใช้ตู้แช่เพื่อแช่แข็งทุเรียน เป็นต้น
เป้าหมายคีรีวงชุมชนสีเขียว
ชาว มจธ.มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านอาจารย์ ดร.กฤษณพงศ์ ชอบลงพื้นที่ชอบทำงานชุมชน คำพูดนี้ไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของกลุ่มกังหันน้ำคีรีวง ปัจจุบันเติบโตเป็นวิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งมาเยือนคีรีวงเป็นประจำ จนกระทั่งวิรัตน์ ตรีโชติ เลขานุการของวิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง ถึงกับบอกว่า เริ่มจากไม่ใช่ญาติ แต่ตอนนี้เหมือนเป็นญาติกันไปแล้ว
“ จากโจทย์ที่ชาวบ้านอยากได้ไฟฟ้าไปขนำ จะได้ใช้ตู้เย็นเก็บผลไม้ เมื่อภาคใต้ฝนมาก แดดน้อย ไม่เพียงพอ จึงต้องมาพิจารณาพลังงานจากน้ำ เป็นทางเลือก เวลาออกชนบทโจทย์การทำงานจะเปลี่ยนตลอดเวลา นักวิจัยจึงต้องออกมาคลุกคลีกับพื้นที่” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว
ในอนาคต ดร.กฤษณพงศ์ อยากให้ชุมชนสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินท์ ไม่ต้องพึ่งน้ำมัน อาจทำเป็นโครงการนำร่องด้านพลังงานสีเขียว ทำให้ชุมชนคีรีวงเป็นชุมชนสีเขียว เป็นศูนย์ฝึกผู้นำชุมชน เอาภูมิความรู้ด้านกังหันน้ำของวิสาหกิจชุมชนที่สะสมประสบการณ์มานาน 10 ปี ทำเป็นชุดความรู้สอนผ่านออนไลน์ แล้วมาลงภาคปฏิบัติที่คีรีวง สร้างการมองเห็นให้เกิดขึ้นบนโชเชียลมีเดียคู่ขนานกันไป
ดร.กฤษณพงศ์ มองว่า สาระเนื้อหาเดียวกัน แต่คนละสื่อ ก็จะเกิดผลกระทบคนละแบบ แต่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยใช้งบประมาณจากภาคท้องถิ่น ทั้ง อบต.อบจ.และ อปท. ซึ่งสามารถมองภาพใหญ่ของชุมชน แล้วดึงธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพทำงานด้านสังคม ก็จะทำให้วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งและอยู่ได้
นี่คือความสำเร็จจากความรู้ของท้องถิ่นที่สะสมมาจากประสบการณ์ จากการลองผิดลองถูก ถูกนำมาคลุกเคล้าปรุงรสเข้ากับความรู้สมัยใหม่ เทคโนโลยีใหม่ กลายเป็นกังหันน้ำคีรีวง พัฒนามาแล้วถึง 4 รุ่น ทั้งหมดผลิตในประเทศไทย โดยโรงหล่อสแตนเลสของ มจธ. นำไปสู่พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ
สายลม แสงแดด สายน้ำ พลังงานสะอาด สร้างสังคมสะอาด เหมือนชาวคีรีวงในสวนผลไม้ที่มีแต่รอยยิ้มแห่งความสุขและความภาคภูมิใจ
บรรณาธิการเทคโนโลยี
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้