เทคโนโลยี

อนุรักษ์เสือปลาด้วยงานวิจัย

11 เมษายน 2568

 “เสือปลา” อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์สัตว์นักล่า

โดยใช้พื้นที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยใหญ่สุดของเสือปลาในประเทศไทยเป็นพื้นที่วิจัย

เปิดเส้นทางอนุรักษ์เสือปลาด้วยงานวิจัย

โครงการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  ต้องการสร้างฐานข้อมูลของเสือปลาในพื้นที่เขาสามร้อยยอด เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบการกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ต่อไป

จากการวิเคราะห์ภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์จำนวน 50 จุด ในพื้นที่เขาสามร้อยยอด พบว่าจำนวนเสือปลาในพื้นที่เขาสามร้อยยอดมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสือปลาที่ถ่ายภาพได้ในปี 2567 เป็นเสือปลาตัวที่ไม่เคยถูกถ่ายภาพเมื่อสามปีก่อน

จากข้อมูลข้างต้นแสดงว่า อัตราการแทนที่ของเสือปลาตัวเก่าด้วยเสือปลาตัวใหม่อยู่ที่ 76- 80 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นอัตราการรอด 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือหากปีนี้พื้นที่เขาสามร้อยยอดมีเสือปลาอยู่ 100 ตัว ก็จะมีเพียง 50 ตัวที่จะอยู่รอดไปถึงปีหน้า ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ นักวิจัยโครงการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. ให้ข้อมูลถึงสถานภาพปัจจุบันของเสือปลาที่เขาสามร้อยยอด

ภาวะเลือดชิดคือความเสี่ยง

การที่คนรุ่นใหม่ในชุมชนไม่สนใจการเข้าป่าล่าสัตว์ รวมถึงการมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคสังคม และภาคเอกชน เข้ามาร่วมแก้ปัญหาและร่วมกับคนพื้นที่ ทั้งการทำกรงเลี้ยงไก่สำหรับป้องกันเสือปลา การดึงคนล่าสัตว์มาเป็นผู้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงกวดขันและตรวจตราอย่างต่อเนื่องของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ทำให้ภัยคุกคามต่อเสือปลาจากมนุษย์ในบริเวณนี้น้อยลง แต่เสือปลาก็ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะสูญพันธุ์ เพราะผลจากการวิเคราะห์พันธุกรรมจากมูลของเสือปลาพบว่า สัตว์ผู้ล่าแห่งเขาสามร้อยยอดชนิดนี้มี“ภาวะเลือดชิด” ที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันเองในกลุ่มเครือญาติ ทำให้มีโอกาสที่เสือปลารุ่นต่อไปจะมีภูมิต้านทานต่อโรคบางชนิดน้อยลง ซึ่งหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นก็อาจทำให้เสือชนิดนี้หมดไปจากพื้นที่นี้ได้

นอกเหนือจากการศึกษาสถานภาพของเสือปลาด้วยการตั้งกล้องดักถ่าย เก็บมูลสด และการสัมภาษณ์คนใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกับเสือปลาในพื้นที่เขาสามร้อยยอดแล้ว ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาทางทีมวิจัยยังได้มีการเก็บข้อมูลแบบเดียวกันในอีก 4 พื้นที่ซึ่งเคยมีรายงานการค้นพบเสือปลา

พื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี  พื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร  พื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด และ พื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา

จากการลงพื้นที่พบว่า บริเวณทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยการหากินของเสือปลาทั้งทางฝั่งเหนือและฝั่งใต้ของทะเลสาบรวม 19 จุด ซึ่งแม้จะพบในจุดที่เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แต่ก็เป็นพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตร ไม่มีการเลี้ยงไก่หรือเลี้ยงปลาที่เป็นอาหารของเสือปลา คนจึงไม่ถูกเสือปลารบกวน และไม่ได้มองเสือปลาเป็นผู้ร้ายเหมือนพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้ทำให้เรามองว่า พื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลารวมถึงบริเวณทะเลน้อยเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการศึกษาสถานภาพของเสือปลาในระยะต่อไป

เขาสามร้อยยอด ตัวอย่างความสำเร็จ

ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า  ผลจากการศึกษาวิจัยและความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร S.P.E.C.I.E.S. องค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์เสือปลาที่เขาสามร้อยยอดจะเป็นตัวอย่างและความสำเร็จเชิงรูปธรรมของพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง (Other effective area-based conversation measures: OECMs)ที่เป็นหนึ่งนโยบายสำคัญของกรมป่าไม้

หากสามารถอนุรักษ์เสือปลาที่เป็นผู้ล่าอันดั สูงสุดของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ได้ ย่อมหมายถึงความสำเร็จของการจัดการระบบนิเวศชุ่มน้ำให้ดำรงอยู่ต่อไป อันจะก่อประโยชน์ให้กับมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผู้เขียน
ทีม iJournalist

More read
  • เทคโนโลยี
  • 2 เมษายน 2568

ไขข้อข้องใจโรคไส้เลื่อน

Tags

  • งานวิจัยเสือปลา
  • พื้นที่พบเสือปลา
  • มจธ.
  • เขาสามร้อยยอด