ใช้เทคโนโลยี IoT ช่วยลดอัตราการผสมเทียมผิดพลาดในวัวนม ผลงานจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ชนะรางวัล James Dyson Award ทีมแรกของไทย
KomilO (โคมิโล) คือชื่อของระบบปฏิบัติการที่มีส่วนประกอบเป็นเซนเซอร์ 2 จุด ติดตั้งบนตัวโคนม จุดแรกที่บริเวณหู และจุดที่สองบริเวณโคนหางเพื่อตรวจจับพฤติกรรมของโคนม ทำให้สามารถคาดการณ์รอบของการเป็นสัดในโคนมได้แม่นยำโดยอาศัยเทคนิคแมชชีนเลิร์นนิง
ผลงานชนะเลิศรางวัล JAMES DYSON AWARD 2022
เกษตรกรสามารถอ่านข้อมูลผ่าน แอปพลิเคชันซึ่งจะช่วยเก็บข้อมูลเฉพาะของโคนมแต่ละตัวจัดการเซนเซอร์ รวมถึงแจ้งเตือนเกษตรกรเมื่อโคนมมีอาการติดสัดและพร้อมสำหรับการผสมเทียม ผลงานของทีมนักออกแบบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ประกอบด้วย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชานวัตกรรมบริการดิจิทัล จำนวน 6 คน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เน้นสร้างโซลูชันที่ใช้ง่าย เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำนมของเกษตรกรไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจำนวนมากขึ้น
KomilO จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 222,000 บาท เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาโซลูชันนี้เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง และจะเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าประกวดรางวัล James Dyson Award ระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้ารอบในการประกวดระดับนานาชาติจะประกาศในวันที่ 12 ตุลาคม2565
เครื่องช่วยฟัง โดยไม่ต้องผ่าตัด AHDs
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ มีดังนี้ The Amazing Hearing Devices or AHDs เป็นโซลูชัน: AHDs เครื่องช่วยฟัง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด มาพร้อมกับที่คาดหัวเพื่อใช้สำหรับการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว
หมอนมีเทคโนโลยี AI
Aeolus หมอนปรับตามความต้องการโดยอาศัยแอปพลิเคชันในการปรับขนาด ตรวจจับจุดกดทับเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับท่าของการวางศีรษะและการวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับโดยแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาเสริม
รางวัล James Dyson Award คือ การแข่งขันด้านการออกแบบระดับนานาชาติประจำปีที่เปิดรับนักศึกษาหรือศิษย์เก่าด้านการออกแบบและวิศวกรรม มาร่วมแข่งขัน นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปีพ.ศ. 2548 ได้ให้ทุนสนับสนุนการประดิษฐ์เชิงพาณิชย์แก่สิ่งประดิษฐ์กว่า 300 รายการ โดยรางวัล James Dyson Award อยู่ภายใต้มูลนิธิ James Dyson ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลในระดับนานาชาติจากผลกำไรของ Dyson ที่มุ่งมั่นสนับสนุนวิศวกรรมศาสตร์และการศึกษา