ข่าวทั่วไป

ก. กกบึงกาฬทำได้เปลี่ยนสาดเป็นกระเป๋าราคาหลักพัน

14 เมษายน 2567

ก. กกบึงกาฬทำได้เปลี่ยนสาดเป็นกระเป๋าราคาหลักพัน

ถ้าเข้าไปเดินในเซ็นทรัล  มองหามุมที่จำหน่ายสินค้าชุมชน เซ็นทรัลทำ แบรนด์ Good Goods จะสะดุดตากับกระเป๋ากระเป๋าที่เหมือนทำจากเสื่อ แต่ปรับโทนสีและดีไซน์ให้เข้ากับยุคสมัย   กระเป๋าทอจากต้นกก มาจากหลายชุมชนของไทย  หนึ่งในนั้นคือ ผลงานของ ก.กก บึงกาฬ 

เป็นการลงพื้นที่ไปเรียนรู้ “สานพลังพื้นที่ ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ได้คุ้มค่าที่สุด เพราะได้ทั้งความรู้ใหม่ๆ และเสียเงินให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ “สานพลังพื้นที่…ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา” ณ จังหวัดบึงกาฬ และอุดรธานี

“การเรียนรู้ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้เห็นโมเดลต้นแบบการทำงานกับคนทุกประเภทและทุกช่วงวัย ซึ่งตอบโจทย์ภารกิจหลักของ กสศ. ตามนโยบายของจังหวัดบึงกาฬ คือ สร้างเมือง สร้างคน สร้างรายได้ โดยที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำงานหลากหลายโครงการฯ ทั้งยังร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดบึงกาฬในการคัดกรองเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและต้องการความช่วยเหลือ โดยพบว่ามีอยู่กว่า 4,700 คน ซึ่งปัจจุบัน กสศ. ก็ได้ดึงความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันแก้ปัญหาในส่วนนี้” นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าว

เป็นอีกความสำเร็จของหน่วยจัดการเรียนรู้  โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

แม้ว่าปัจจุบัน ก.กก บึงกาฬ จะไม่ขอรับทุนจากทางโครงการฯ แล้ว ด้วยเหตุผล อยากส่งต่อโอกาสให้ผู้อื่น แต่สมาชิกของ ก.กก บึงกาฬ นำโดยคุณครูรัศมี อึดผา ครูอาสาสมัคร  กศน. สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้นอกระบบอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ  รวมทั้งพี่อุดร  คำชาตา ประธานวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง และ พี่ดวงใจ ทุมซ้าย  หัวหน้าฝ่ายผลิตวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง  ก็ยังมุ่งมั่นทำงานกับชุมชน ส่งต่อความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน

ในพื้นที่ตำบลโพธิ์ทองและตำบลโนนสมบูรณ์  มีต้นกกและผือ มากมายในหนองน้ำ  มีภูมิปัญญาทอเสื่อ (ภาษาอีสานเรียก สาด )  ตั้งแต่ปี 2562  คุณครูรัศมี จึงพากลุ่มชาวบ้านหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดจากภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่

บนเงื่อนไขที่ชุมชนต้องการ 3 ข้อ คือ

1.อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น

2.อยากสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

3.อยากมีสถานที่จำหน่ายสินค้า

โดยมีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์บึงกาฬ  สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ  โรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์   และโรงเรียนบ้านทองสาย  เข้ามาช่วยกันถ่ายทอดองค์ความรู้ตามที่ชุมชนต้องการ

ความสามัคคีในชุมชนนำไปสู่ความสำเร็จ

ก.กก บึงกาฬ ได้ทุนจาก กสศ.ต่อเนื่องมา 2 ปี  ได้พัฒนาคน  ยกระดับความรู้ สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่  สามารถขายสินค้าให้กลุ่มซีพี  และกลุ่มเซ็นทรัลได้   ครบตามเงื่อนไขที่ชุมชนต้องการทั้ง 3 ข้อ  จึงได้ข้อสรุปกลุ่มร่วมกันว่า จะไม่ขอรับทุน เพราะอยากส่งต่อโอกาสให้ผู้อื่น  แต่ก็ยังทำงานพัฒนาตัวเองและส่งต่อความรู้ให้กับชุมชนใกล้เคียง

“เราสามารถสร้างการเปลี่ยนได้จริงๆ  คนในชุมชนส่วนร่วมจริงๆ บนพื้นฐานความสามัคคี ความเป็นพี่เป็นน้องในชุมชน ทุกขั้นตอนการทำงานทุกคนมีส่วนร่วม    ครูรัศมี อึดผา ครู กศน.ซึ่งเป็นลูกหลานในหมู่บ้าน เป็นคนพื้นที่  จึงมองเห็นศักยภาพ เห็นความตั้งใจของชาวบ้านที่พร้อมจะร่วมเรียนรู้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ

 

ทำดีแล้วอยากส่งต่อให้คนอื่น

อุดร  คำชาตา ประธานวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง  สองมือทำนา  ตอนเด็กๆ ข้าวไม่พอกิน เพราะพ่อกับแม่มีลูกหลายคน  พี่อุดร เรียนจบม.ปลาย จาก กศน.   มองเห็นแล้วว่า ทอเสื่อผืนเดียว ไม่เกิดประโยชน์  รายได้ก็น้อย  แล้วเสื่อผืนจะเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้าง

มาวันนี้ผลงานของกลุ่มไปอยู่ในเซ็นทรัล  จากที่ไม่กล้า พูด ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าแสดงออก  แต่ต้นกก และผือ นำพาให้พี่อุดร กลายเป็นนักพูด เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ชุมชนอื่นๆ ที่มาดูงาน  ณ ศูนย์การเรียน ก.กก บึงกาฬ  ด้วยความภาคภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง

สอดคล้องกับความเห็นของคุณยายพร้อม อึดผา ปราชญ์ชุมชนด้านการทอเสื่อ บอกว่า  ดีใจที่ต่ำ (ทอ)สาด ขายได้เงินหลาย จากเมื่อก่อนขายได้ผืนละ 20 -50 บาท   ได้ไปดูงานกับครูรัศมี  ตอนนี้ทอเสื่อขายให้เซ็นทรัล เดือนล่าสุดได้เงิน 40,000 บาท  ลูกหลานก็เข้ามาช่วยงานคนละไม้ละมือ

”ผู้ใด๋ต่ำสาด คืองามแท้“ ยายพร้อม ยิ้มหวานอวดผลงานทอเสื่อ

ผลิตภัณฑ์ของ ก.กก บึงกาฬ

มีทั้งเสื่อสีธรรมชาติ หมวก กระเป๋าหลากหลายรูปแบบ  กล่องทิชชู หมอนเต่าทิง  ที่สมาชิกในชุมชนช่วยกันทำ กลายเป็นสินค้าอัตลักษณ์ชุมชนของจังหวัดบึงกาฬ  นอกจากขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ แล้ว ยังถ่ายทอดความรู้ลงโรงเรียน ทั้งเรื่องการปลูกต้นกก  ต้นผือ วิธีทอเสื่อ จนกระทั่งเกิดลาย “ขันหมากเบ็ง” เป็นลายอัตลักษณ์ของบึงกาฬ

ก้าวต่อไป ของ ก.กก บึงกาฬ

กสศ.และมูลนิธิเอสซีจี  เลือก ก.กก บึงกาฬ  นำร่องโครงการพัฒนาตัวแบบกองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เชื่อมโยงกับโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนและแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างตัวแบบกองทุนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพ   

ในชื่อ กองทุน ก.กก บึงกาฬ สานสัมพันธ์ชุมชน ตำบลโนนสมบูรณ์  เพื่อสร้างเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน  โดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของ ให้สมาชิกมีเงินออม มีเงินทุนหมุนเวียนประกอบอาชีพ  ให้กู้ยืมไปสร้างอาชีพได้   สมาชิกในชุมชนจะช่วยกันดูแล

ส่วนเป้าหมายผลิตภัณฑ์ ก.กก บึงกาฬ อยากขายกระเป๋าจากกก ให้ได้ใบละหมื่น

ซื้อสินค้า ก.กก บึงกาฬ

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี